คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง
Color-Field Painting
ระหว่าง: ต้นคริสต์ทศวรรษ 1950-ปลาย 1960
ภาพเขียนแบบ คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง (Colour-Field Painting) เคลื่อนไหวอย่างคึกคักในระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 ถึงปลาย 1960 โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกา ที่คึกคักในยุโรปคือที่ประเทศฝรั่งเศส ในนามของกลุ่ม ซัพพอร์ตส์/เซอร์เฟสเซส (Supports/ Surfaces, ระหว่างปี 1966-1974)
ศิลปินในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากการทำงานของ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสต์ (Abstract Expressionist) เช่น ศิลปินอย่าง เฮเล็น แฟรงเคนเธเลอร์ (Helen Frankenthaler) ได้แรงบันดาลใจจากการ “ทำภาพ” ในองค์ประกอบแบบ “กระจายไปทั่วภาพ” ที่ แจ็คสัน พ็อลล็อค (Jackson Pollock) เคยทำเอาไว้
มาร์ค รอธโก (Mark Rothko) และ บาร์เน็ท นิวแมน (Barnett Newman) สองศิลปินสำคัญของ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ก็ได้เป็นต้นแบบให้แก่พวก “คัลเลอร์-ฟิลด์” สำหรับการใช้สีแรงๆ สดๆ
ทั้งกลุ่ม คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง และ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ต่างก็ปฏิเสธการ “เขียน” หรือ “ทำ” ภาพแบบลวงตา 3 มิติ
จุดที่แตกต่างของสองกลุ่มนี้คือ ภาพเขียนของ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสต์ หลายคนจะยังมีการใช้ฝีแปรง หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศิลปินยังใช้พู่กันเขียนภาพระบายสี
แต่กลุ่ม คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง จะปฏิเสธฝีแปรงแบบภาพเขียนงานจิตรกรรม
พวกเขามักจะใช้วิธีการ “เท-ราด” สี ไม่มีการใช้พู่กันระบายสี (อาจมีบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญ) บ้างก็เทหรือหยอดสีลงบนผ้าใบ (โดยมากจะวางนอนกับพื้นห้อง) แล้วปล่อยให้ไหล เป็นวิธีการแบบกึ่งบังคับ กึ่งปล่อยอิสระ จนเกิดเป็นร่องรอยของสี
ตัวอย่างของศิลปินที่ใช้วิธีการแบบนี้คือ มอร์ริส หลุยส์ (Morris Louis) ศิลปินที่ “ทำ” งานจิตรกรรมขนาดใหญ่ ด้วยการ “ราด” และ “เท” สี ปล่อยให้มันไหล บ้างก็บังคับทิศทางการวางของผ้าใบ เพื่อให้สีไหลไปตามทางที่กำหนด เรียกได้ว่า เป็นศิลปินที่ใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก อย่าง “น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ” มาทำงานศิลปะ
ความเด่นของการใช้สี หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นสีสันในภาพ การทำร่องรอยของสีให้มีขนาดใหญ่ แบนแผ่ไปทั่วภาพราวกับท้องทุ่งได้กลายเป็นจุดเด่นที่ถูกนำไปขนานนามแนวศิลปะว่า คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง
“เรื่องราว” และ “การเล่าเรื่อง” ไม่ใช่สิ่งที่ คัลเลอร์-ฟิลด์ เพ้นติ้ง ใส่ใจจะนำเสนอ สำหรับพวกเขาภาพเขียนหรือจิตรกรรม ไม่ใช่การเล่าเรื่อง ไม่ใช่การสร้างภาพลึกลวงตา ไม่ใช่การเขียนภาพให้เหมือนต้นแบบ
พวกเขาคิดว่า คุณค่าพื้นฐานที่สุด ซึ่งสำคัญที่สุดในจิตรกรรม (หากใช้คำว่า “ภาพเขียน” อาจทำให้นึกถึงการเขียนภาพแบบเดิม จึงขอใช้คำว่า “จิตรกรรม” ที่น่าจะเป็นกลางกว่า คือ “ความแบน” และ “สีสัน”
“ผิวหน้า” ที่ “แบนราบ” ของผืนผ้าใบคือ “ความจริง” ของจิตรกรรม คือ “ความจริง” ที่เป็น “ที่อยู่อาศัย” ของ “สีสัน” คัลเลอร์-ฟิลด์ เพนติ้ง คือ “ความงาม” แท้ๆ ของ “ความจริงในจิตรกรรม”
ศิลปิน: เฮเล็น แฟรงเค็นเธเลอร์ (Helen Frankenthaler, 1928-), แซม กิลเลียม (Sam Gilliam, 1933-), แอลส์เวิร์ธ เคลลี (Ellsworth Kelly, 1923-), มอร์ริส หลุยส์ (Morris Louis, 1912-1962), เค็นเน็ธ โนแลนด์ (Kenneth Noland, 1924-)