Process Art

Posted In: Artistic Movement

โพรเซส อาร์ต
Process Art

process-art
 

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-กลาง 1970

ในโลกของศิลปะ แม้ว่าสิ่งที่ศิลปินคิดและทำจะเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นนามธรรมอยู่มากๆ เช่น ความคิด อารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาน ความเชื่อ และความศรัทธา แต่ผลงานศิลปกรรมก็ยังเป็นโลกของวัตถุอยู่มาก เพราะศิลปินต้องถ่ายทอดความเป็นนามธรรมเหล่านั้น ออกมาเป็น “รูป” เป็น “ภาพ” ที่เป็นรูปธรรมให้ได้ “เป้าหมาย” หรือ “ผลลัพธ์” จึงเป็นผลผลิตสุดท้ายที่จะพิสูจน์ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน

แน่นอนว่าศิลปินที่จะทำงานศิลปะที่ดีได้ จะต้องมีทักษะฝีมือ มีเทคนิคและกระบวนการการทำงานที่ดี แต่กระบวนการที่ว่านี้ไม่ได้รับการใส่ใจเท่ากับผลลัพธ์ที่เป็นผลงานสำเร็จ ไม่ค่อยมีใครสนใจกระบวนการเท่ากับผลงานที่จัดวางแสดงให้ดูอยู่ต่อหน้าในนิทรรศการ

“กระบวนการ” ที่ว่าสำคัญๆ ของศิลปินจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสตูดิโอ เมื่อเรายืนดูผลงานที่สำเร็จแล้ว เราก็ได้แต่จินตนาการไปถึง “กระบวนการ” ที่ศิลปินทำผลงานเหล่านั้น

“กระบวนการการทำ” แทบจะไม่มีผลต่อการชื่นชมผลงานศิลปะเลย

ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1960 ท่ามกลางกระแสความนิยมในศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย และท่ามกลางความแรงของ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่เน้นความน้อยและความเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด ศิลปินชาวเยอรมัน อาทิ โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys), อีวา เฮสสะ (Eva Hesse), ฮันส์ แฮค (Hans Haacke) และศิลปินอเมริกันอย่าง โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris) และ ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra) ได้ทำงานในลักษณะที่โต้ตอบกับการทำงานศิลปะที่เน้นความงามของรูปทรงและวัสดุที่ดูสมบูรณ์หมดจดอย่าง มินิมอลลิสม์ และคติแบบ ฟอร์มอลลิสม์ (Formalism)

พวกเขาได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” ศิลปินเหล่านี้สร้างงานที่แปรผันไม่คงที่ บ้างก็มีความเคลื่อนไหวมีความเปลี่ยนแปลง ผลงานเหล่านี้ได้รับการกล่าวถึงในนามว่า โพรเซส อาร์ต

หากทำการสืบค้นต้นตำรับของการทำงานศิลปะที่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” จะพบว่าการสาดสีเทสีในงานจิตรกรรมของ แจ็คสัน พ็อลล็อค (Jackson Pollock) และการย้อมสีในจิตรกรรมของ เฮเล็น แฟรงเค็นเธเลอร์ (Helen Frankenthaler) ที่เต็มไปด้วยความอิสระและความบังเอิญในยุค 1950 มีส่วนบุกเบิกทัศนคติการทำงานแบบเน้น “กระบวนการ” ไว้มากทีเดียว

ศิลปินในแนว โพรเซส อาร์ต ต้องการจะสร้างผลงานที่สวนกระแสการซื้อขายงานศิลปะในตลาดศิลปะที่กำลังเริ่มบูมในขณะนั้น พวกเขาทำงานศิลปะด้วยวัสดุที่ไม่มีความคงทนถาวร เช่น น้ำแข็ง น้ำ หญ้า ขี้ผึ้งและไขมัน ศิลปินหญิง อีวา เฮสสะ ใช้วัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสและยางมาสร้างงานนามธรรม วัสดุเหล่านั้นค่อยๆ แปรเปลี่ยนและเสื่อมสภาพไป

ฮันส์ แฮค สร้างผลงานที่ชื่อ คอนเดนเซชัน คิวบ์ (Condensation Cube) ในปี 1963-1965 เป็นกล่องสี่เหลี่ยมทำมาจากแผ่นอะคริลิคใส น้ำที่ระเหยภายในกล่องที่ปิดทึบ ได้ก่อให้เกิดไอและหยดน้ำเกาะกล่องใสใบนั้น เป็นปฏิกริยาที่ก่อให้เกิด “รูป” ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่

หรืออีกชิ้นของศิลปินคนเดียวกัน ในปี 1969 มีชื่อว่า กราส โกรวส์ (Grass Grows) เนินดินที่ศิลปินนำมาจัดวางไว้ในแกลเลอรี ค่อยๆ มีต้นหญ้าเติบโตขึ้นมาปกคลุม จนดูเป็นประติมากรรมนามธรรมชิ้นหนึ่งที่มีชีวิตเติบโตเปลี่ยนแปลงได้

ศิลปิน: ลินดา เบนกลิส (Lynda Benglis, 1941-), โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys, 1921-1986), แอ็กเนส เด็นส์ (Agnes Denes, 1938-), แซม กิลเลียม (Sam Gilliam, 1933-), ฮันส์ แฮค (Hans Haacke), อีวา เฮสสะ (Eva Hesse, 1936-1970), แจนนิส คูเนลลิส (Jannis Kounellis, 1936-), โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris, 1931-), ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra, 1939-), คีธ ซอนเนียร์ (Keith Sonnier, 1941-)

Postmodernism
Sound Art