โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์, ลัทธิประทับใจยุคหลัง
Post-Impressionism
คริสต์ศักราช 1880-1893
“โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์” คือกระแสศิลปะที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส มีศิลปินทั้งหมด 4 คน ดังนี้ พอล เซซาน (Paul Cezanne) พอล โกแกง (Paul Gauguin) วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) และ จอร์จ เซอราต์ (Georges Seurat)
ชื่อ “โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์” เกิดขึ้นเมื่อปี 1910 เมื่อนักวิจารณ์ ฟอร์มอลลิสม์ ชาวอังกฤษชื่อ โรเจอร์ ฟราย (Roger Fry) จัดงานชื่อ “มาเนต์ แอนด์ เดอะ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์” (Manet and the Post-Impressionist) ที่ ลอนดอนส์ กราฟตัน แกลเลอรีส์ (London’s Grafton Galleries) ชื่อลัทธิเกิดขึ้นหลังจากที่ศิลปินในกลุ่มนี้ตายหมดแล้ว (ไม่ใครมีชีวิตอยู่เกินปี1906)
เช่นเดียวกับศัพท์ผสมทางศิลปะอื่นๆที่มีคำว่า “โพสต์-” หรือ “นีโอ-” นำหน้า คำว่า “โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์” ได้บอกเราว่า กลุ่มนี้มาหลัง “อิมเพรสชันนิสม์” (Impressionism) นอกจากนี้ คำว่า “โพสต์-” ยังบ่งบอกด้วยว่า มันคือปฏิกริยาต่อต้านสิ่งที่มาก่อนมัน ในขณะที่คำว่า “นีโอ-” จะให้ความหมายในเชิงบวก เช่น การฟื้นฟู หรือ การยอมรับกระแสศิลปะที่เกิดขึ้นมาก่อน
โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ ทั้ง 4 คนนี้ ต่างมีความไม่พอใจแนวทางการเขียนรูปของ อิมเพรสชันนิสม์ ที่ไม่ค่อยจะมีรูปทรงชัดเจนเท่าไร เพราะพยายามถ่ายทอดบรรยากาศของสีและแสงด้วยฝีแปรง จนทำให้รูปทรงไม่กระจ่างชัด แต่อย่างไรก็ตามทั้งสี่คนนี้ (ยกเว้น เซอราต์ ที่คิดค้น “นีโอ-อิมเพรสชันนิสม์”) ได้เคยทดลองเทคนิคแบบ อิมเพรสชันนิสม์ มาแล้วทั้งสิ้น
การแสดงทางอารมณ์และความรู้สึกในงานของ โกแกง และ แวน โก๊ะ มีลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ส่วนตัว มีการใช้สีที่บิดเบือนผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ (เช่น มีการใช้สีที่สดดิบมากเกินของจริง) ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ลัทธิ เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) และ ซิมโบลิสม์ (Symbolism)
เทคนิคการสร้างจุดจนคล้ายการเรียงหินโมเสคของ เซอราต์ ได้ให้อิทธิพลแก่ อาร์ต นูโว (Art Nouveau) และ โฟวิสม์ (Fauvism)
เซซาน ทดลองเขียนภาพทิวทัศน์และหุ่นนิ่ง โดยการสังเคราะห์ให้เป็นโครงสร้าง ซึ่งต่อมาได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ “คิวบิสม์” (Cubism) ในการสร้างภาพธรรมชาติให้เป็นโครงสร้างแบบเรขาคณิต
ศิลปิน: พอล เซซาน (Paul Cezanne, 1839-1906), พอล โกแกง (Paul Gauguin, 1848-1903), วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh, 1853-1890) จอร์จ เซอราต์ (Georges Seurat, 1859-1891)