เพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต, ศิลปะแสดงสด, ศิลปะแสดง
Performance Art
กลางคริสต์ทศวรรษ 1960-
“ศิลปะแสดง”, “ศิลปะแสดงสด” หรือ “ศิลปะสื่อแสดง” คือคำที่พยายามถอดความมาจากศัพท์ศิลปะในตะวันตกคำว่า เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต (Performance Art) หรือบางทีก็อาจไม่ต้องมีคำว่า อาร์ต ตามหลังก็เป็นที่เข้าใจเหมือนกัน การที่ไม่ใส่คำว่า “อาร์ต” เข้าไปก็เพราะ โดยต้นตอของ เพอร์ฟอร์แมนซ์ นั้น เกิดขึ้นจากการต่อต้านศิลปะในความหมายแบบเดิม
ศิลปะที่ปรากฏในชื่อนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ในวงการศิลปะนานาชาติ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก คำว่า เพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต (Performance art) มีความหมายของคำที่ไม่ชัดเจน ได้เปิดกว้างให้แก่ความเป็นไปได้เอาไว้มากๆ
ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 คำนี้กลายเป็นที่นิยมมากสำหรับกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ ที่นำเสนอต่อหน้าคนดูแบบสดๆ มีการรวมเอา ดนตรี นาฏศิลป์ กวี ละคร และวีดีโอ เข้ามาอยู่ในการแสดงด้วย คำนี้ยังเรียกศิลปะที่ใช้การแสดงสดๆ อย่าง ไลฟ อาร์ต (Live Art), บอดี้ อาร์ต (Body Art) แฮ็พเพ็นนิง (Happening) แอ็คชัน (Action) และกิจกรรมบางอย่างของ ฟลัคซุส (Fluxus) และ เฟมินิสต์ (Feminist, กลุ่มสตรีนิยม)
เพอร์ฟอร์แมนซ์ เกิดขึ้นจากการที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับคนดูโดยตรง มากไปกว่าที่จิตรกรรมและประติมากรรมสามารถทำได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินในสายทัศนศิลป์หลายคน ตั้งแต่กลุ่ม ดาด้า (Dada)จอห์น เคจ (John Cage) ผู้ซึ่งทำให้ความคิดแบบ ดาด้า เผยแพร่ที่นิวยอร์คในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และจากการที่ แจ็คสัน พ็อลล็อค (Jackson Pollock) ที่ทำจิตรกรรมแบบแอ็คชัน เพนติ้ง (action painting) สำหรับการถ่ายภาพยนตร์ในปี 1950
จนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ศิลปินปฏิเสธที่จะใช้คำว่า เพอร์ฟอร์แมนซ์ นี้กับการแสดงในแบบละครเวที (ซึ่งนิยมใช้คำว่า เพอร์ฟอร์มิง อาร์ต, performing art มากกว่า)
เพอร์ฟอร์แมนซ์ ในระยะแรกเริ่มเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 มักจะเป็นกิจกรรมในแนวคิดของกลุ่ม คอนเซ็ปชวล (Conceptual) ซึ่งไม่มีลักษณะที่เป็นละครเวทีหรือนาฏศิลป์ พวกศิลปินมักจะทำ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ในแกลเลอรีและพื้นที่สาธารณะ ความยาวของการแสดงมีตั้งแต่ ไม่กี่นาทีไปจนถึงยาวนานเป็นวันๆ และมักจะทำเพียงครั้งเดียวไม่ค่อยทำซ้ำอีก
ในปี 1969 กิลเบิร์ตและจอร์จ (Gilbert and George) ศิลปินคู่ได้ใช้ร่างกายของตัวเองในผลงานศิลปะ โดยกลายสถานะตัวเองให้เป็น “ประติมากรรมที่มีชีวิต” (ลิฟวิ่ง สคัลป์เจอร์, living sculpture) เป็นดั่งศิลปะวัตถุที่มีลักษณะแบบหุ่นยนต์ในนิทรรศการของพวกเขาหรือบางทีก็ออกไปแสดงตามท้องถนนในกรุงลอนดอน
และในปี 1972 วีโต แอคคอนซี (Vito Accoci) ทำ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ชื่อ ซี้ด เบด (Seed bed) ที่นิวยอร์คส์ ซอนนาเบนด์ แกลเลอรี (New York?s Sonnabend Gallery) เขาสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองใต้บันไดที่คนดูเดินอยู่และคนดูจะได้ยินเสียงของศิลปินที่ขยายออกไปสู่ลำโพง
ในปี 1975 ลอว์รีย์ แอนเดอร์สัน (Laurie Anderson) ทำ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ชื่อ ดูเอท ออน ไอซ์ (Duet on Ice) แอนเดอร์สัน ทำการหล่อน้ำแข็งหุ้มรองเท้าสเก็ตท์ของตัวเอง แล้วยืนโซซัดโซเซบนถนน พร้อมๆกับเล่นไวโอลินเพลงคลาสสิคจนน้ำแข็งละลายหมด
ศิลปิน เพอร์ฟอร์แมนซ์ รุ่นที่สองเริ่มบทบาทในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยปฏิเสธความเคร่งครัดของศิลปะแนว คอนเซ็ปชวล ทำให้งาน เพอร์ฟอร์แมนซ์ เริ่มไปปรากฏให้เห็นในโรงละครและไนท์คลับ ในรูปของดนตรีหรือตลกเดี่ยว หรือบางทีก็อยู่ในรูปของวิดีโอหรือภาพยนตร์ ในหลายกรณีที่ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ที่ทำได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ จะถูกเทียบเคียงหรือได้กลายเป็นนาฏลีลา ละคร หรือดนตรีแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde, อาวองท์-การ์ด)
ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้เกิดศิลปินที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมหลายคนที่ทำ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ในลักษณะ “ผสมและข้ามสาขา (ทางศิลปะ)” คือเก่งทั้งในสาขาการแสดงแบบศิลปะการแสดง (performing art เช่น ดนตรี นาฏลีลา และละครเวที) และสาขาทัศนศิลป์ (ทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรม)
ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีอย่าง ลอว์รีย์ แอนเดอร์สัน และ เดวิด เบิร์น (David Byrne) สาขานักแสดงอย่าง แอน แมคนูสัน (Ann Magnuson) ดาวตลกอย่าง วูปี้ โกลด์เบิร์ก (Whoopi Goldberg) และนักออกแบบศิลป์ให้อุปรากรฝรั่งอย่าง โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) ศิลปิน เพอร์ฟอร์แมนซ์ หลายคน ทำงานทั้งแบบ เพอร์ฟอร์แมนซ์ และก็สร้างงานในสื่ออื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือประติมากรรม เช่นเดียวกับศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นหลัก ก็อาจจะทำงาน เพอร์ฟอร์แมนซ์ ได้ด้วยเหมือนกัน งาน เพอร์ฟอร์แมนซ์ จึงเป็นเหมือนเครื่องมือหรือสื่ออีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการแสดงออก
ศิลปินไทย จุมพล อภิสุข กล่าวว่า ในศิลปะแสดงสายฝรั่งเศสนิยมใช้คำว่า Live Art ซึ่งมีนัยถึงความ “สด” ในการแสดง มหกรรมศิลปะแสดงที่ริเริ่มโดยจุมพลและเพื่อน ชีวศิลป์ Live Art, สื่อการแสดง ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2539 ที่ศูนย์บ้านตึก คือ การลองถอดความคำว่า Live art ให้เป็นไทยว่า “ชีวศิลป์”