นีโอ-ดาด้า, ดาด้าใหม่
Neo-Dada
ต้นคริสต์ทศวรรษ 1950-กลาง 1960
ภาพเขียนแบบ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) คือตัวอย่างที่สุดขั้วของการออกห่างจากโลกภายนอก ไม่สนใจประเด็นสังคมใดๆ มุ่งหาความเป็นปัจเจก แสดงออกทั้งทางการสร้างภาพและแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเต็มที่
ถ้าจับเอาภาพเขียนแบบ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ มาวางอยู่ทางขั้วขวามือ สิ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามที่เป็นขั้วทางซ้ายมือ ก็คงจะเป็นศิลปะระดับล่าง จำพวกงานออกแบบสินค้าและวัสดุสำเร็จรูปตามท้องตลาด เป็น วัฒนธรรมพ็อพ เป็นวัฒนธรรมระดับมหาชน
คงจะจำได้ว่า สิ่งที่ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) นำมาแสดงให้คนดูจนกลายเป็นศิลปะ คือ วัสดุสำเร็จรูป ซึ่งเป็นของระดับล่าง จัดอยู่ในกลุ่ม โลว์ อาร์ต (low art)
พ็อพ อาร์ต (Pop Art) เติบโตมาจากแนวคิดแบบเดียวกับ ดาด้า และ ดูชองป์ เป็นศิลปะที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมพ็อพ
ระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษ 1950-1960 มีศิลปะอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่าง ภาพแสดงอารมณ์แบบ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ กับ วัฒนธรรมพ็อพ และ พ็อพ อาร์ต
นีโอ-ดาด้า (Neo-Dada) คือศิลปะกลุ่มดังกล่าว ตามที่ชื่อของมันได้บ่งชี้เอาไว้แล้วว่า มันโยงไปถึง ดาด้า (ในต้นคริสต์คริสต์ศตวรรษที่ 20) แต่เป็น ดาด้าใหม่ หรือ “นิว” ดาด้า นั่นเอง
ความคล้ายที่ใกล้เคียงกับ ดาด้า มี 2 ประการ
ประการแรกคือ ความย้อนแย้งและความคลุมเครือไร้เหตุผล ดั่งที่เห็นได้จากงานชุด เป้าวงกลม (Targets), ชุด ตัวเลข (Numbers), ชุด แผนที่ (Maps) ของ แจสเปอร์ จอห์นส์ (Jasper Johns)
จอห์นส์ นำเอางานออกแบบกราฟฟิคที่คนเห็นชินตา จนไม่มีความเห็น และไม่รู้สึกอะไรกับมันอย่างเป้าวงกลม ตัวเลข และแผนที่มาระบายสีโชว์ฝีแปรงแสดงอารมณ์ ประการที่สองคือ การนำเอาขยะและ ฟาวนด์ อ็อบเจ็ค หรือ วัสดุสำเร็จรูป มาใช้ในงานศิลปะ ตามที่ ดูชองป์ และ ดาด้า คนอื่นๆ อย่าง เคิร์ท ชวิตเตอร์ (Kurt Schwitters) เคยทำมาแล้ว
แต่ นีโอ-ดาด้า อย่าง โรเบิร์ต เราส์เช็นเบิร์ก (Robert Rauschenberg) ได้นำเอาข้าวของเหล่านั้นมา “ผสม” กับจิตรกรรม จนถูกขนานนามว่า คอมไบน์ เพนติ้ง (combine painting) เป็นลูกผสมระหว่างจิตรกรรมและประติมากรรม
ตัวอย่างการประสมประเสอย่างสนุกสนานของ เราส์เช็นเบิร์ก เช่น ในงานชื่อ โมโนแกรม (Monogram, 1955-1959) เขาได้นำเอาแกะสต๊าฟมารัดด้วยยางล้อรถยนต์ แล้วจับมันยืนอยู่บนภาพเขียนนามธรรม ที่วางนอนกับพื้นห้อง หรือภาพ เบด (Bed, 1955) ที่ศิลปินใช้ผ้าห่มแบบคิวท์และหมอนมาละเลงสีแทนผ้าใบเขียนรูป
งานของกลุ่ม นีโอ-ดาด้า เป็นภาพตัวแทนของสังคมยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะมีทั้งภาพลักษณ์และสินค้าในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนถึงสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม และเพราะมีความงามแบบลูกผสมประหลาดๆ เป็นความงามที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง สินค้าสำเร็จรูป กับ ขยะ คาบเกี่ยวระหว่างของที่เครื่องจักรผลิตออกมาอย่างแข็งทื่อไร้อารมณ์ กับ สีสันฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวา
เป็นลักษณะเดียวกับสังคมตะวันตก โดยเฉพาะสังคมอเมริกันในทศวรรษ 1960 ที่เต็มไปด้วยการประสมประเสที่ย้อนแย้งแบบทุนนิยม บริโภคนิยมที่ผสมปนเปอย่างร้อยพ่อพันแม่
ศิลปิน: วอลเลซ เบอร์แมน (Wallace Berman, 1926-1976), เบรซ คอนเนอร์ (Brace Conner), แจสเปอร์ จอห์นส์ (Jasper Johns, 1930-), โรเบิร์ต เราส์เช็นเบิร์ก (Robert Rauschenberg, 1925-)