โมเดิร์น ดานซ์
Modern Dance
โมเดิร์น ดานซ์ ในไทยสามารถสืบค้นกลับไปถึงเมื่อปี 2493 ในมหาวิทยาลัยศิลปากรได้มีการทดลองทำงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะที่ใช้ร่างกายเป็นสื่อประกอบ โดยมี ประยูร อุลุชาฎะ ประธานนักศึกษา เป็นผู้จัด “ดราม่าพิเศษ” ในคืนงานรับน้องใหม่ รุ่นที่ 7 (รุ่นของ สุวรรณี สุคนธา และ ชลูด นิ่มเสมอ) ที่โรงละครแห่งชาติ ในชื่อว่า “เซอร์เรียลลิสติค มูฟเม้นท์” ประยูร เล่าว่า
มีการจัดฉากกันทันทีโดยเอาฉากเก่าๆ มาผสมปนเปกัน ใช้เทคนิคสาดแสงไฟช่วย เป็นไฟสีม่วงแกมแดงเข้ม มีสีเขียวเรืองๆ จับตามโขดหินและกิ่งไม้
พอเปิดฉาก ตัวแสดงชายนับสิบจะก้มตัวลงกอดเป็นก้อนนิ่ง ปะปนไปกับก้อนหินต่างๆมีบัลลังก์ใหญ่ตั้งเด่นอยู่ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ รูปร่างล่ำสันนั่งนิ่งเป็นรูปปั้น ทวี นันทขว้าง แต่งตัวเป็นฝรั่ง สวมเสื้อคลุม แสดงเป็น แวน โก๊ะ กำลังเขียนรูปอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางบรรยากาศสลัวๆ และเพลงแผ่วเบา
สักครู่ไฟที่หรี่ไว้เริ่มสว่างขึ้นข้างๆ จนเห็นเป็นโขดหินที่เป็นกลุ่มคนมหึมากอดกันแน่น เริ่มเคลื่อนไหวอย่างเจ็บปวดรวดร้าว ราวกับภาพเขียนแพแตกจากเรือเมดูสาของ เชอริโก บรรยากาศเงียบกริบ เพลงค่อยๆเงียบ ไฟข้างหนึ่งดับอีกข้างหนึ่งสว่างขึ้น ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ที่นั่งนิ่งในท่ารูปปั้นของ ไมเคิลแองเจโล ก็เดินแบกก้อนหินก้าวออกมา แล้วตีลังกาโครมกลับมานั่งเป็นก้อนหินตามเดิม ทุกอย่างเงียบ ตอนนี้เพลงเปิดจนสุดเสียง กลุ่มคนก็กระจายเผละออกเป็นสัญลักษณ์ของการแตกละเอียด มีคนตัวล่ำๆ ขี่ช้างเหาะลงมาอย่างรวดเร็ว?ช่วยกันชักรอกนะครับ ไฟก็สว่างโร่แล้วดับพรึบ ปิดม่านทันที “คนดูบ่นกันพึม ดูไม่รู้เรื่องว่าอะไร ต้องดันผู้ประกาศไปประกาศว่า เราประสงค์จะให้เห็นความงามในสีแสงและดราม่า อย่าไปเอาเรื่องราว ถ้ามันเป็นเรื่อง มันก็ไม่ใช่ เซอร์เรียลลิสม์ น่ะซิ”เท่านั้นคนพอใจ เลยตบมือกราว
การแสดงในแนวทางดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีการแสดงอย่างหนึ่งในงานรับน้องใหม่ที่ตกทอดกันมาในคณะจิตรกรรมฯ ภายหลังได้มีการเรียก การแสดงลักษณะนี้ว่า โมเดิร์น ดานซ์ หรือ โมเดิร์น แดนซ์ และค่อยๆ หายไปในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2520 และถูกนำมารื้อฟื้นทำกันใหม่ในปลายทศวรรษเดียวกันนั้น เพื่อร่วมแสดงในวันศิลป์ พีระศรี แต่การแสดง “ดรามา พิเศษ” หรือ โมเดิร์น ดานซ์ จากคณะจิตรกรรมฯ ก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่ แฮพเพนนิ่ง (Happening) หรือ ศิลปะแสดง หรือ เพอร์ฟอร์มานซ์ (Performance) อย่างจริงจังเท่าไรนัก