Minimalism

Posted In: Artistic Movement

มินิมอลลิสม์
สารัตถศิลป์
Minimalism

minimalism

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-กลาง 1970

 
ศิลปะที่ว่าด้วย “ความน้อย” เกิดจากการลดตัดทอนมีมานานแล้ว และเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของ ศิลปะสมัยใหม่ เสียด้วย เช่น ในจิตรกรรมของฝรั่งเศสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรหัวก้าวหน้าทำการลดทอนรายละเอียดต่างๆ ของแบบที่เขียนลง และแทนที่รายละเอียดเหล่านั้นด้วยฝีแปรงและสีสัน จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จิตรกรลดทอนรายละเอียดต่างๆ ของรูปทรงลงจนกลายเป็นเหลี่ยมเรขาคณิต แล้วก็ลดทอนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นศิลปะนามธรรม

มินิมอลลิสม์ คือ พัฒนาการขั้นสุดยอดขั้นหนึ่งของเส้นทางศิลปะนามธรรม ที่ว่าสุดยอดก็เพราะศิลปะในกลุ่ม มินิมอลลิสม์ ลดทอนปัจจัยต่างๆ ทางรูปทรงศิลปะลงจนเหลือรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกได้ว่าทำให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ใน ปี 1965 บาร์บารา โรส (Barbara Rose) นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน คือคนแรกที่อธิบายการทำงานของงานแนวนี้ว่า “น้อยที่สุด” (minimum, มินิมัม) ครั้นปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 คำว่า มินิมอลลิสม์ ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายกันทั่วไปในวงการศิลปะ

หากสืบค้นหาอิทธิพลทางรูปแบบศิลปะที่กลุ่มนี้ได้รับ จะพบว่าศิลปินยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง บาร์เน็ท นิวแมน (Barnett Newman, 1905-1970) แอ็ด ไรน์ฮาร์ท (Ad Reinhardt, 1913-1967) และ เดวิด สมิธ (David Smith, 1906-1965) เป็นผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรมแบบลดทอนรูปทรงจนเหลือแต่น้อยๆ สองคนแรกเป็นจิตรกร ส่วนคนหลังเป็นประติมากร มินิมอลลิสม์ ได้อาศัยหนทางที่พวกแนวหน้าเหล่านั้นบุกเบิกเป็นทางเดินเข้าหาความน้อยในศิลปะ

ศิลปินในกลุ่ม มินิมอลลิสม์ มักจะทำงานประติมากรรมมากกว่างานจิตรกรรม การนำเสนอผลงานโดยมากจะไม่มีแท่นฐานสำหรับวางประติมากรรม ผลงานจะดูไม่มีความเป็นงานฝีมือในลักษณะ “งานทำมือ” แต่จะดูเป็นผลผลิตของเครื่องจักรอุตสาหกรรมเสียมากกว่า
ผลงานในลักษณะนี้ นอกจากจะน้อยเรียบง่ายแล้ว ยังต้อง “เนี้ยบ” ประณีตหมดจดมากๆ อีกด้วย ความสวยงามของงานแนวนี้จะอยู่ที่วัสดุที่นำมาสร้างงาน โดยมากจะต้องปล่อยให้ธรรมชาติของวัสดุชิ้นนั้นๆ ได้แสดงตัวของมันอย่างเต็มที่ เช่น ความมันวาวในแบบสเตนเลส เนื้อหยาบดิบของก้อนอิฐ หรือพื้นผิวและสีที่กระด้างของแผ่นโลหะ

แม้ว่าการลดทอนให้เหลือน้อยที่สุด ทำผลงานให้เรียบง่ายที่สุด ปล่อยให้ตัววัสดุแสดงตัวตนของมันมากที่สุด จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลงานแนวนี้หลุดพ้นไปจากการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก บ้างก็ดูจืดชืดไร้อารมณ์สำหรับบางคน และความเรียบง่ายของมันทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นหรือไม่เป็นศิลปะ หลายคนมองว่าผลงานเหล่านี้ดูเหมือนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คนที่ไม่ใช่ศิลปินก็สามารถทำของแบบนี้ได้เช่นกัน

ผลงานแนว มินิมอลลิสม์ จึงไม่น่าจะมีรูปแบบเฉพาะตัวของแต่ละศิลปิน ยิ่งถ้าไปเปรียบกับงานแนวแสดงออกทางอารมณ์หรือแนวทางการสร้างรูปทรงแปลกๆ เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ผลงานของ มินิมอลลิสม์ จะยิ่งไม่น่าที่จะมีความเป็นส่วนตัวของศิลปินเลย

แต่ในความเป็นจริง ในความเรียบง่ายเหมือนกับว่าจะไม่มีรูปแบบเฉพาะ ศิลปินในกลุ่มนี้ต่างมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน

คาร์ล อังเดร (Carl Andre) มักจะใช้แผ่นโลหะดิบแบนที่มีผิวหน้าค่อนข้างเรียบ หรือบ้างก็ใช้ก้อนอิฐมาวางเรียงกันเป็นตาราง โดยจัดให้มันสัมพันธ์กับพื้นที่ที่แสดงผลงาน

แดน ฟลาวิน (Dan Flavin) ขึ้นชื่อมากในการนำเอาแท่งหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มาจัดวางเรียงกันเป็นประติมากรรม แสงสีจากหลอดไฟทำให้มันมีคุณลักษณะเป็นจิตรกรรมไปด้วย

ประติมากรรมของ โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris) มักจะเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์คล้ายกล่อง โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ทำประติมากรรมด้วยสเตนเลสและแผ่นพลาสติก ที่โด่งดังมากคือผลงานที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายชั้นวางของติดผนัง

ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra) โดดเด่นที่สุดในการใช้แผ่นโลหะดิบๆ หนาเตอะ มีขนาดใหญ่โตดูทรงพลัง ชิ้นประวัติศาสตร์ของเขาคือ ทิลเต็ด อาร์ค (Tilted Arc, ปี1981) ผลงานนี้เป็นแผ่นโลหะต่อกันเป็นผนังยาว 120 ฟุต หนา 2.5 นิ้ว ติดตั้งขวางทะแยงอยู่ตรงกลาง เฟเดอรัล พลาซ่า ในนครนิวยอร์ค เป็นงานศิลปะในที่สาธารณะที่อื้อฉาวมาก เนื่องจากไม่มีชาวบ้านคนไหนชอบมันเลยและศิลปินก็ปฏิเสธที่จะย้ายมันไปที่อื่น เซอร์รา อ้างว่าเนื่องจากผลงานชิ้นนี้ถูกคิดและทำขึ้นเพื่อที่ตรงนั้นโดยเฉพาะ หากย้ายที่ผลงานชิ้นนี้ก็หมดค่า โรเบิร์ต ฮิวส์ (Robert Hughes) เจ้าของงานเขียน เดอะ ช็อค ออฟ เดอะ นิว (The Shock of the New) บอกว่าจากกรณีนี้ได้พิสูจน์ว่า ศิลปะที่ดีอาจจะไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นศิลปะในที่สาธารณะที่ดี

แม้ว่าชาวบ้านจะมีปัญหากับงานแนวนี้มาก แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1970 หน่วยงานรัฐและเอกชนกลับนิยมสะสมกันมาก ซึ่งสอดคล้องไปกับกระแสนิยมการสร้างตึกระฟ้าทรงสี่เหลี่ยม ที่ห่อหุ้มด้วยกระจกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรม มินิมอลลิสม์

มินิมอลลิสม์ เป็นแนวศิลปะกระแสหลักที่ครอบงำวงการศิลปะในอเมริกาช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เปรียบได้กับ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ที่ได้รับความนิยมมากในคริสต์ทศวรรษ 1950

ศิลปิน: คาร์ล อังเดร (Carl Andre, 1935-), โรนัลด์ บลาเด็น (Ronald Bladen, 1918-1988), แดน ฟลาวิน (Dan Flavin, 1933-1996), มาเธียส โกทิทซ์ (Mathias Goetitz), โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd, 1928-1994), โซล เลวิทท์ (Sol Lewitt, 1928-), โรเบิร์ต แมนโกลด์ (Robert Mangold, 1937-), ไบรซ์ มาร์เด็น (Brice Marden, 1938-), แอ็กเนส มาร์ติน (Agnes Martin, 1912-), จอห์น แม็ค แคร็คเค็น (John Mc Cracken), โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris, 1931-), ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra), โดโรธี ร็อคเบิร์น (Dorothea Rockburne, 1912-1981), แฟรงค์ สเตลลา (Frank Stella, 1936-)

Media Art
Mixed Media