Happening

Posted In: Artistic Movement

แฮ็พเพ็นนิง
Happening

 happening

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-กลาง 1960

แฮ็พเพ็นนิง (Happening) เป็นกระแสศิลปะที่เริ่มในนครนิวยอร์ค ในราวต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นที่นิยมอยู่จนถึงกลางคริสต์ทศวรรษเดียวกัน คำๆนี้ อลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ศิลปินหัวก้าวหน้าเป็นผู้ตั้งขึ้น เมื่อเขาทำงานในลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในปี 1959 เขาเรียกมันว่า เอททีน แฮ็พเพ็นนิง อิน ซิคส์ พาร์ตส์ (18 Happening in 6 Parts)

ในนิทรรศการนี้มีห้อง 3 ห้อง, คนแสดงอ่านข้อความต่างๆ หลายข้อความ โดยมีท่าทางเหมือนเล่นละครใบ้ มีการระบายสีบนผ้าใบ สีไวโอลิน และเป่าฟลุ๊ต คนดูย้ายจากห้องหนึ่งไปอีกห้องตามคำบอกแนะของเจ้าหน้าที่ในนิทรรศการ คนดูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ แฮ็พเพ็นนิง (อย่างที่บอกไว้ในบัตรเชิญ) คนดูต้องค้นหาความหมายเองจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกันเท่าไร คาโพรวแนะคนดูว่า

“การแสดงไม่ได้มีความหมายชัดเจนตามสูตรใดๆ (จากความตั้งใจของศิลปิน)”

อลัน คาโพรว ให้คำจำกัดความของ “แฮ็พเพ็นนิง” ว่าเป็น “การผสมผเสเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงและสามารถรับรู้ได้มากกว่าเวลาขณะเดียวและที่ที่เดียว” งานในลักษณะนี้จะเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ซึ่งเกิดขึ้นโดยคนแสดงและคนดู

ศิลปินที่ทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้รวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนและไม่เคยร่วมกันประกาศถ้อยแถลง (Manifesto, ถ้อยแถลง หรือ แมนิเฟสโต้ คือ ถ้อยคำที่กลุ่มศิลปินหรือกลุ่มคนในลัทธิความคิดเดียวกัน ร่วมกันประกาศเจตนารมย์หรือนโยบายของกลุ่ม อาจจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการพูดและอ่านประกาศ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการเคลื่อนไหวแบบเป็นกลุ่ม)

ลักษณะเด่นของงาน แฮ็พเพ็นนิง คือการยอมรับความบังเอิญที่เกิดขึ้นขณะที่ทุกสิ่งกำลังดำเนินไป มีการใช้วิธีการ “ด้นสด”ในขณะที่กำลังแสดง บางทีก็มีดนตรีและเพลงเข้าร่วมด้วย

ศิลปินสำคัญที่ร่วมทำงานแนวนี้และมีส่วนช่วยกระจายความคิดในการทำงานแบบนี้คือ จอห์น เคจ (John Cage) จากการสอนที่ แบล็ค เมาน์เทน คอลเลจ (Black Mountain College) ที่ นอร์ธ แคโรไลน่า (North Carolina) ทำให้เกิดลูกศิษย์ที่เป็นศิลปิน แฮ็พเพ็นนิง มากมาย

ศิลปิน: จิม ไดน์ (Jim Dine, 1935-), เรด กรูมส์ (Red Grooms, 1937-), อัล แฮนเซน (Al Hansen), อลัน คาโพรว (Allan Kaprow), เคลส์ โอลเด็นเบิร์ก (Claes Oldenburg, 1929-), คาโรลี ชนีแมนน์ (Carolee Schneemann), โรเบิร์ต วิทแมน (Robert Whitman)

Graffiti Art
Hard-Edge Painting