ฟลัคซุส
Fluxus
ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1960
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 จนถึงต้น 1960 เป็นเวลา 10 กว่าปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีศิลปินหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสนิยมในงานแบบ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) งานในแนวนามธรรมอย่างนี้ถูกมองว่าไม่สนใจสังคมและการเมือง ทั้งๆที่ทุกเมื่อเชื่อวันมีประเด็นปัญหาต่างๆ มากมาย ดังนั้นการที่ศิลปินวาดรูปอยู่คนเดียวในสตูดิโอโดยไม่สนใจโลกภายนอก จึงกลายเป็นการแสดงถึงความไร้สำนึกไม่รับผิดชอบต่อสังคม
บรรยากาศที่คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและสังคมในยุคนั้น ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมแนว ดาด้า ในวงการศิลปะ เป็นความเคลื่อนไหวในแนวโจมตีและท้าทายจารีตและค่านิยมในวงการศิลปะที่เติบโตอย่างมั่นคงจนกลายเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจ
ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ศิลปินในยุโรปบางคนเริ่มทำการแสดงตามท้องถนนในเมืองอัมสเตอร์ดัม โคโลจน์ ดุสเซลดอร์ฟ และปารีส ในแบบที่ค่อนข้างจะก้าวร้าวรุนแรง เป็นแนวทางที่เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า ฟลัคซุส (Fluxus) แนวศิลปะที่ต่อต้านศิลปะ ซึ่งถ้าสืบหาตัวจุดประกายกันแบบลึกๆ ก็คงสามารถย้อนกลับไป อีฟ แคลง (Yves Klein) และ ปีเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ที่ทำงานแนว แอ็คชัน (Action) (แอ็คชัน, แฮ็พเพ็นนิง (Happening) และ ฟลัคซุส คือความเคลื่อนไหวในวงการทัศนศิลป์ที่สนใจการ “แสดง” และ “กระบวนการ” ในศิลปะแบบทัศนศิลป์ และเป็นต้นแบบสำหรับศิลปะแบบ เพอร์ฟอร์แมนซ์ (Performance) และ คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) ที่เน้นความคิดเป็นสำคัญ) มาตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 หรือย้อนรอยลึกลงไปอีกก็จะสาวถึงต้นตอ ดาด้า ที่เคยคิดและทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
การเคลื่อนไหวของ ฟลัคซุส ถือได้ว่าเป็นกระแสระดับนานาชาติ โดยเริ่มจากเยอรมนีและแพร่ไปสู่นิวยอร์ค ส่งต่อไปยังเมืองหลวงของยุโรปตอนเหนือ กลับมาที่แคลิฟอร์เนียแล้วผ่านไปยังญี่ปุ่น ฟลัคซุส เป็นกลุ่มศิลปินที่ประกอบด้วยนักเต้น ศิลปินทัศนศิลป์ คนทำหนังและกวี
คำเรียกลักษณะกิจกรรมและศิลปินในกลุ่มนี้ว่า ฟลัคซุส นั้น ผู้ที่ใช้คนแรกคือศิลปิน จอร์จ แมคิวแนส (George Maciunas) ที่ได้ระบุไว้ในบัตรเชิญเข้าฟังการบรรยายที่ แกลเลอรี เอ/จี (Gallery A/G) ในนิวยอร์คเมื่อปี 1961 โดยชื่อนี้มีนัยยะที่โยงไปถึงคำว่า “ไหล” (flow) หรือ “เปลี่ยนแปลง” (change) ซึ่งสะท้อนลักษณะสำคัญของกิจกรรมโดยศิลปินกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขามีทัศนคติที่เปิดรับความบังเอิญ ความเปลี่ยนแปลง ความไร้เหตุผล การปฏิเสธการควบคุมอย่างมีเหตุและผลจนเกินไป ชื่อ ฟลัคซุส นี้เป็นการบ่งบอกถึง “ความคิดและทัศนคติ” มากกว่าเป็นการระบุถึง “รูปแบบ”
จุดมุ่งหมายของพวก ฟลัคซุส คือการก่อกวนกิจกรรมซ้ำซากของศิลปะและชีวิตทั่วๆ ไปของพวกกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง ฟลัคซุส เกิดขึ้นเคียงคู่ไปกับ แฮ็พเพ็นนิง ในนิวยอร์ค กล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้ว งานของ ฟลัคซุส จะมีการวางแผนและวุ่นวายน้อยกว่า แฮ็พเพ็นนิง พวก ฟลัคซุส มักจะแสดงโดยไม่ต้องสร้างฉากสร้างพร็อพ ไม่ต้องคิดและตัดเครื่องแต่งกายอะไรเป็นพิเศษสำหรับการแสดง แต่ที่คล้ายกันคือ คนดูกับคนแสดงได้กลายเป็นหนึ่งเดียว หรือ คนดูได้มีส่วนร่วมกับการแสดง
กิจกรรมของ ฟลัคซุส มีทั้งบนเวที (พวกเขามี ฟลัคซ์ฮอลล์, Fluxhall) ตามท้องถนน ตามคาเฟ่ (เช่นที่ คาเฟ่ อะ โกโก้ ของเพื่อนศิลปิน) ในแกลเลอรี (เช่นที่ แกลเลอรี เอ/จี ในแถบอัพทาวน์ของนิวยอร์ค) ในลอฟท์ (อพาร์ทเมนท์ขนาดใหญ่) ของ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) การแสดงของพวกเขาบางทีก็มีดนตรีไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พวกเขาชอบการใช้สื่อหลากหลายมาผสมปนเปอย่างสนุกสนาน โดยมากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ขันและปล่อยให้ปลายเปิดแบบให้ตีความกันเอาเอง นอกจากการแสดงสดแล้ว พวก ฟลัคซุส ยังชอบสร้างข้าวของและวัตถุต่างๆ เพื่อนำเสนอความคิดหรือบ้างก็ใช้ประกอบการแสดง ถึงขนาดตั้งร้านรวง ฟลัคซ์ช็อพ ขึ้นมาทีเดียว
ตัวอย่างของกิจกรรมของพวก ฟลัคซุส มีตั้งแต่การทำ เมล์ อาร์ต (mail art, ศิลปะที่เปิดให้มีส่วนร่วมโดยมีการจัดส่งกันทางไปรษณีย์) กิจกรรมการอ่านกวียาวๆแบบไฮกุ (Haiku) ที่มีคำแนะนำให้คนไปทำกิจกรรมง่ายๆ อย่างเช่น ไปเดินเล่นหรือไม่ก็เผาต้นคริสต์มาส ไปจนถึงการแสดงที่เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดีของ นัม จุง ไพค์ (Nam June Paik) (ศิลปินชาวเกาหลีที่โด่งดังมากในฐานะศิลปินคนแรกของโลกที่ทำงาน วิดีโอ อาร์ต) ที่ร่วมกับ ชาร์ล็อท มัวร์แมน (Charlotte Moorman) โดยที่ นัม จุง ไพค์ ติดตั้ง “ยกทรงโทรทัศน์” ขนาดเล็กปิดหน้าอกของ มัวร์แมน และศิลปินหญิงคนนี้ก็ทำการเล่นเชลโลไปพร้อมๆ กับที่ “ยกทรงโทรทัศน์” กำลังแพร่ภาพ
สมาชิกศิลปินสำคัญอีกคนคือ โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys) ชาวเยอรมันที่ได้นำทัศนคติแบบ ฟลัคซุส ไปใช้ในวิธีการสอนศิลปะในฐานะอาจารย์ประติมากรรมที่ ดุสเซลดอร์ฟ อะคาเดมี (ตั้งแต่ ปี 1961) เขาสนับสนุนให้นักเรียนศิลปะของเขาใช้วัสดุอะไรก็ได้ในการทำงานศิลปะ และให้ความสนใจในความเป็นมนุษย์มากกว่าการประสบความสำเร็จในวงการศิลปะ บอยส์ จัดการการสอนของเขาในรูปของการสัมมนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และใน ปี 1963 เขาจัด เทศกาล ฟลัคซุส ขึ้นที่อะเคเดมี โดยมีศิลปิน ฟลัคซุส จากอเมริกามาร่วมด้วยหลายคน
โยโกะ โอโนะ ภรรยาชาวญี่ปุ่นของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) ซุปเปอร์สตาร์แห่งวง เดอะ บีทเทิลส์ จริงๆแล้วศิลปิน โอโนะ โด่งดังในวงการศิลปะก่อนที่จะมาพบรักกับ เลนนอน เสียอีก ตัวอย่างงานที่เธอทำ เช่น เพ้นติ้ง ฟอร์ เดอะ วิน ในปี 1961 โอโนะ แขวนถุงผ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชอยู่เบื้องหน้าแคนวาสที่ขึงอยู่บนผนัง ผลงานนี้มีข้อความระบุวิธีการมีส่วนร่วมของคนดูไว้ว่า “เจาะรูที่ถุงบรรจุเมล็ดพืช นำไปแขวนที่ไหนก็ได้ที่มีลม”
งานของ โอโนะ มักจะคาบเกี่ยวระหว่างทัศนศิลป์กับการแสดง บ่อยครั้งที่จะเกี่ยวข้องกับความบังเอิญและเปิดให้ธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วม งานอื่นๆ ที่เคยทำมี อาทิ การเผาแคนวาส เหยียบสี และปล่อยให้น้ำหยดลงบนผิวหน้าแคนวาส
ศิลปิน: โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys, 1921-1986), จอร์จ เบร์ชท์ (George Brecht), โรเบิร์ต ฟิโลว์ (Robert Filliou), เค็น ไฟรด์แมน (Ken Friedman), กอฟฟ์ เฮ็นดริคส์ (Geoff Hendricks), ดิค ฮิกกินส์ (Dick Higgins), เรย์ จอห์นสัน (Ray Johnson), อลิสัน โนว์เลส (Alison Knowless), จอร์จ แมคคิวนัส (George Maciunas), แจ็คสัน แม็คโลว์ (Jackson MacLow), ชาร์ล็อท มัวร์แมน (Charlotte Moorman), โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono), นัม จุง ไพค์ (Nam June Paik, 1932-), แดเนียล สเปอร์รี (Daniel Spoerri, 1930-), เบ็น โวเทียร์ (Ben Vautier, 1935-), วูลฟ์ โวสเทลล์ (Wolf Vostell), โรเบิร์ต วัตต์ส์ (Robert Watts), ลา มอนเต้ ยัง (La Monte Young)