เอิร์ธ อาร์ต ภูมิศิลป์
Earth Art
ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1970
ในโลกของศิลปะตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป กระแสการกลับไปหาธรรมชาติ เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1960
บางคนก็เรียกขานศิลปะในกระแสแบบนี้ว่า ศิลปะสิ่งแวดล้อม หรือ เอ็นไวรอนเม็นทัล อาร์ต (Environmental art) แต่ชื่อที่เรียกติดปากติดกระแสมากกว่าคือ เอิร์ธ อาร์ต (Earth art)
ศิลปินในกลุ่มนี้มีจุดร่วมกันอยู่ตรงที่ว่า ต้องการปฏิเสธศิลปะในเชิงธุรกิจการค้า พวกเขาสนับสนุนกระแสทางด้านอนุรักษ์สภาพแวดล้อม มีแนวโน้มต่อต้านอารยธรรมเมือง และบ้างก็เป็นพวกที่มีความคิดในเชิงจิตวิญญาณ
ผลงานของพวกเขาเหล่านี้มักจะมีลักษณะเด่นตรงที่เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ดูคล้ายงานโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ทำลงบนพื้นดินและทุ่งหญ้า
ศิลปินในระดับซุปเปอร์สตาร์ในศิลปะสายนี้มีอาทิ โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson) ผลงานประวัติศาสตร์อันลือลั่นของ สมิธสัน คือ สไปรัล เจทตี้ (Spiral Jetty) ปี 1970 ผลงานชิ้นนี้สร้างเป็นเขื่อนดินทรงขดก้นหอยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 457 เมตร ยื่นออกไปในทะเลสาบ เดอะ เกรท ซอลท์ เลค (the Great Salt Lake) ในยูท่าห์ สหรัฐอเมริกา สไปรัล เจทตี้ จะดูละม้ายคล้ายสัญลักษณ์บนท้องทุ่งธรรมชาติสมัยโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของความอนันต์อันไม่มีที่สิ้นสุด
ในบางช่วง สไปรัล เจทตี้ ก็ต้องจมน้ำ เพราะน้ำในทะเลสาบที่ขึ้นลง เรียกได้ว่ามีการแปรสภาพไปตามสภาวะดินฟ้าอากาศ สมิธสัน เคยทำงานแนว มินิมอลลิสม์ (Minimalism) แล้วก็ปรับเปลี่ยนความคิดและแนวงาน โดยการหลีกหนีพื้นที่ปิดอย่างหอศิลป์และแกลเลอรี ไปสู่พื้นที่ธรรมชาติอันไกลโพ้นไปจากเมือง ศิลปินมุ่งที่จะนำเสนอศิลปะในโลกแห่งความจริงด้วยการนำผลงานไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ
การที่ผลงานมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ปัญหาบางอย่างในการดูงานจึงติดตามมา อย่างเช่น มุมมองที่จะดู สไปรัล เจทตี้ ได้ดีที่สุดคือ มองลงจากที่สูง และด้วยความที่ผลงานแนว เอิร์ธ อาร์ต ขนาดมหึมาในธรรมชาติอันห่างไกล ศิลปินจึงต้องผจญภัยเสี่ยงตายมากกว่าปกติ สมิธสัน จบชีวิตในหน้าที่ศิลปิน เมื่อฮอลิคอปเตอร์ที่เขานั่งไปตรวจดูผลงานเกิดอุบัติเหตุตกลง
ศิลปินอีกคนที่หลีกหนีการแสดงงานในแกลเลอรี ริชาร์ด ลอง (Richard Long) ชาวอังกฤษที่ทำงานศิลปะในพื้นที่ธรรมชาติ อย่างเช่น ทุ่งหญ้า ภูเขาและลำธาร ผลงานของเขามีความสัมพันธ์อย่างกลมกลืนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับสภาพแวดล้อม แตกต่างไปจากศิลปิน เอิร์ธ อาร์ต ชาวอเมริกันที่มักจะทำงานแบบอลังการใหญ่โต และในบางกรณีก็กลายเป็นรุกรานธรรมชาติไปได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดภูเขา การถมทะเล การนำเอาก้อนหินใหญ่และหนักไปจัดวางในท้องทุ่ง
แต่สำหรับ ริชาร์ด ลอง การทำงานของเขาเป็นไปอย่างเรียบง่ายสงบงาม เขาแค่เดินไปในท้องทุ่ง เด็ดดอกไม้ เคลื่อนย้ายก้อนหินก้อนเล็กก้อนน้อย หรือนำกิ่งไม้มาวางเรียงเป็นรูปทรงง่ายๆ อย่างเช่น เป็นเส้นตรงหรือเรียงเป็นวงกลม
ผลงานของ ลอง จะไม่มีความคงทน มันจะค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ บ้างก็ปลิวไปตามแรงลมแรงฝน หรือไม่ก็หิมะกลบจนมันลบเลือนไป ผลงานจะคงอยู่เป็นหลักฐานว่ามันเคยมีอยู่เพียงแค่ในแผนที่แผนผังและภาพถ่ายที่สวยงาม หรือไม่ก็เศษวัสดุที่เขาเก็บมาวางโชว์ในแกลเลอรี่ ในฐานะที่เป็นบันทึกรายงานผลงานการทำงานในธรรมชาติที่ห่างไกลจากผู้คน
ศิลปินซุปเปอร์สตาร์อีกคน วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter De Maria) ผลงานระดับอภิมหาโปรเจ็คที่โด่งดัง หนึ่งในผลงานระดับคลาสสิกของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ ไลท์นิ่ง ฟิลด์ (Lightning Field) ในปี 1971-1977 เดอ มาเรีย นำเสาสเตนเลสนับร้อยต้นไปปักอยู่ในท้องทุ่งที่นิวเม็กซิโก เสาสเตนเลสเหล่านั้นเป็นตัวล่อฟ้าทำให้เกิดฟ้าผ่า ทุกวันนี้ผลงานชิ้นนี้ยังคงอยู่ที่เดิม ใครจะไปดูต้องนัดล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่ดูแลผลงานนี้จะได้จัดเตรียมรถยนต์สำหรับเดินทางไกลและที่พักสำหรับหลับนอน ด้วยความที่ผลงานอยู่ในท้องทุ่งที่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนั่นเอง
นอกจากผลงานในพื้นที่ธรรมชาติที่เดินทางไปดูลำบากแล้ว ศิลปิน เอิร์ธ อาร์ต ระดับซุปเปอร์สตาร์มักจะได้รับการว่าจ้างให้จัดแสดงงานในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ หรือผลงานถูกจัดซื้อนำไปติดตั้งในพื้นที่เฉพาะ ศิลปินก็จะต้องจัดทำและติดตั้งผลงานขึ้นมาใหม่ ดังเช่นกรณีของ นิวยอร์ค เอิร์ธ รูม (New York Earth Room) ของ เดอ มาเรีย
ในปี 1968 เดอ มาเรีย ทำผลงานชิ้นหนึ่งในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ต่อมา เดอะ เดีย เซนเตอร์ ฟอร์ ดิ อาร์ต (the Dia Center for the Arts) ได้จัดซื้อแล้วนำมาติดตั้งที่ชั้น 2 ของตึกๆ หนึ่งในเกาะแมนฮัตตัน กรุงนิวยอร์ค
ห้องทั้งห้องถูกถมด้วยดินสูง 2 ฟุต ระหว่างคนดูกับดินดำนั้นจะถูกกั้นด้วยแผ่นพลาสติกใส ทำให้คนดูเห็นชั้นดินแยกขาดออกจากพื้นที่ที่คนยืนดูอยู่ เมื่อคนดูก้าวย่างเข้าไปในห้อง ประสาทสัมผัสทางการดมจะทำงานอย่างหนัก เพราะคนดูจะรู้สึกถึงความชื้นและได้กลิ่นดิน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนดูรู้สึกถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของห้องบรรจุดินกับป่าคอนกรีตของกรุงนิวยอร์ค
ผลงาน นิวยอร์ค เอิร์ธ รูม เป็นแนวทางการทำงานศิลปะอีกแบบหนึ่งที่สามารถโยงไปถึงขนบธรรมเนียมของศิลปะร่วมสมัยที่นำเอา วัสดุสำเร็จรูป จากฝีมือมนุษย์บ้าง วัสดุดิบๆ จากธรรมชาติบ้าง มานำเสนอในพื้นที่ทางศิลปะ บริบทของพื้นที่ทางศิลปะ การจัดวาง การนำเสนอ การเปลี่ยนบทบาทหน้าที่การใช้งานและความหมายดั้งเดิมของวัสดุได้ทำให้มันกลายเป็นศิลปะขึ้นมา
แม้ว่าในโลกของศิลปะร่วมสมัยตะวันตกที่หลงใหลในความแปลกใหม่ ความตื่นเต้นที่ต้องมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองก้าวหน้าและทันสมัยมากๆ แต่ประเด็นทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวงการศิลปะยังไม่ล้าสมัย การทำงานแบบ เอิร์ธ อาร์ต ดูจะเป็นวิธีคิดและการทำงานที่ออกจะโรแมนติคอยู่มากทีเดียว
ศิลปิน: อลิซ อายค็อค (Alice Aycock, 1946-), คริสโต (Christo), แจน ดิบเบ็ทส์ (Jan Dibbets, 1941-), แฮมิช ฟูลตัน (Hamish Fulton, 1946-), ไมเคิล ไฮเซอร์ (Michael Heizer, 1944-), แนนซี โฮลท์ (Nancy Holt, 1938-), ริชาร์ด ลอง (Richard Long, 1945-), วอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter de Maria), อานา เมนเดียต้า (Ana Mendieta, 1948-1985), โรเบิร์ต มอร์ริส (Rober Morris), เดนนิส โอพเพ็นไฮม์ (Dennis Oppenheim), ไมเคิล ซิงเกอร์ (Michael Singer), โรเบิร์ต สมิธสัน (Robert Smithson, 1938-1973), อลัน ซ็อนฟิสท์ (Alan Sonfist)