Dada

Posted In: Artistic Movement

ดาด้า
Dada

dada

คริสต์ศักราช 1915-1923
คิวบิสม์ (Cubism) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี่เอง ได้เกิดกลุ่มศิลปินวิญญาน (และการกระทำ) ที่เป็นขบถ มีความคิดที่จะต่อต้านศิลปะ จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว เกิดแนวทางใหม่ เหมือนเปิดประตูให้ศิลปินได้เข้าไปพบกับโลกใหม่อย่างคาดไม่ถึง

ดาด้า เกิดขึ้นที่ ซูริค และแพร่ไปที่นิวยอร์ค บาร์เซโลน่า เบอร์ลิน โคโลจน์ และปารีส ดาด้า เป็นชื่อกลุ่มของศิลปินที่ไม่เห็นด้วย กับกระแสการพัฒนาแนววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นความคิดแบบเหตุผล อันเป็นกระแสหลักของการพัฒนาในยุโรป ซึ่ง ดาด้า มองว่าเป็นอารยธรรมที่กำลังทำลายตัวเอง พวกเขาหันมาทำศิลปะอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่เหตุผล ดูประหลาดแต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความขี้เล่น

พวก ดาด้า ไม่ใช้วิธีการแบบจารีต ไม่ค่อยสนใจกฏเกณฑ์ ชอบใช้ความบังเอิญ เป็นตัวทำให้เกิดผล เช่น ศิลปินที่ชื่อ ฌอง อาร์พ (Jean Arp) ปล่อยกระดาษที่ถูกฉีกขาดเป็นชิ้นส่วนให้ร่วงหล่นลงบนแผ่นงาน กลายเป็น งานติดปะ (collage, คอลลาจ)

ศิลปินชาวเยอรมันอย่าง ฮันนาห์ ฮอช (Hannah Hoch, 1889?1978) และ จอห์น ฮาร์ทฟิลด์ (John Heartfield, 1891?1968) คิดค้นงานติดปะด้วยภาพถ่าย หรือที่เรียกกันว่า โฟโต้ มอนทาจ (photo montage) เคิร์ท ชวิตเตอร์ (Kurt Schwitters) นำเอาขยะมาทำงานติดปะ

อีกหลายคนทดลอง การวาดเส้นอย่างฉับพลัน (automatic drawing, ออโตเมติค ดรออิ้ง) ปราศจากการวางแผนล่วงหน้า เพื่อหลีกหนีการควบคุมอย่างมีสติและสำนึก หรือเพื่อให้หลุดไปจากการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลที่พวกเขาต่อต้านนั่นเอง

การพยายามฉีกตำรา แหวกประเพณีทางศิลปะแบบนี้ ทำให้พวก ดาด้า ถูกเรียกว่าเป็น “พวกต่อต้านศิลปะ” (anti art)

แต่อย่างไรก็ตาม ดาด้า คือส่วนหนึ่งของกระแสลัทธิศิลปะสมัยใหม่

แม้การขัดขืนต่อสังคมกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง จะเป็นบุคคลิกอย่างหนึ่งของศิลปะสมัยใหม่ แต่ ดาด้า เป็นพวกที่ต่อต้านกฎเกณฑ์ประเพณีของสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมชนชั้นกลางอย่างดุเดือดที่สุด การกระทำที่ก้าวร้าวและประหลาดได้ทำให้คนดูเดือดดาลเป็นอย่างยิ่ง

ศิลปินคนสำคัญในกลุ่ม ดาด้า ที่ได้พลิกโฉมวิธีคิดและการทำงานศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างถอนรากถอนโคน นั่นคือ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) เขาเป็นคนที่ทำให้ วัสดุสำเร็จรูป ได้แจ้งเกิดในวงการศิลปะ อาจจะพูดได้ว่าเขาเป็นคนที่ปล่อยให้ศิลปะหลุดออกไปจากความสวยงามและงานฝีมือแบบเดิมๆ แล้วก้าวเข้าสู่ศิลปะที่เป็น รูป และ ความงาม ของ ความคิด

Cubism
Degenerate Art