Cubism

Posted In: Artistic Movement

คิวบิสม์
บาสกนิยม
Cubism

cubism

คริสต์ศักราช 1908-1918

คิวบิสม์ (Cubism) เป็นกระแสศิลปะแบบสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี 1908?1918 โดยเริ่มต้นจากกลุ่มศิลปินที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส (ในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของ “ความทันสมัย”) ศิลปินที่บุกเบิกแนวทางนี้คือ พาโบล ปิกาสโซ (Pablo Picasso) และ จอร์จ บราค (Georges Braque) ในช่วงแรกๆ งานทั้งสองคล้ายกันมาก

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อิทธิพลหลักใหญ่ๆสองอย่างที่ส่งผลต่อพัฒนาการในศิลปะตะวันตกคือ อิทธิพลของภาพพิมพ์และศิลปวัตถุจากญี่ปุ่น ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการค้นหาแรงดลใจจาก ศิลปะอนารยชน (Primitive Art) และจากหลายๆวัฒนธรรมที่ “เป็นอื่น” สำหรับวัฒนธรรมตะวันตก

อีกอิทธิพลหนึ่งก็คือ งานจิตรกรรมของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) ในนิทรรศการเมื่อ ปี 1901 และนิทรรศการผลงานย้อนหลังของ พอล เซซาน (Paul Cezanne) ใน ปี 1907 ได้ส่งอิทธิพลให้ศิลปินหลายคน โดยเฉพาะกับ บราค เขาได้เดินทางลงไปทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อไปเขียนรูปทิวทัศน์ในลักษณะเดียวกับ เซซาน แต่มีความเป็นเหลี่ยมมากกว่า มีโทนสีจำกัดกว่า

การขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้มีสินค้าต่างแดนมากมาย ทั้งหน้ากากและประติมากรรมจากอัฟริกาและหมู่เกาะโอเชียเนียไหลบ่าเข้าสู่นครปารีส ของเหล่านี้มีรูปแบบที่โดดเด่นมาก เช่น หัวและตัวที่ดูแทบจะไม่เป็นตัวแทนของรูปทรงมนุษย์ในแบบที่ตะวันตกและอุดมคติแบบกรีกเคยเชื่อถือและปฏิบัติกันมา

ของเหล่านี้ได้แนะให้เห็นถึงการลดทอนภาพมนุษย์ ซึ่งต่อมาก็ปรากฏให้เห็นในศิลปะ คิวบิสม์ (ศิลปินไม่ได้สนใจในความหมายและหน้าที่การใช้งานของศิลปวัตถุจากแดนไกลเหล่านั้น แต่นำมาใช้อย่างกอบโกยเหมือนทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเจ้าอาณานิคมดูดกินจากประเทศที่ด้อยกว่า)

เซซาน เป็นคนแรกที่บุกเบิกการสร้างพื้นที่ว่างแบนๆ โดยการรวมตัวกันระหว่างรูปทรงของคนหรือวัตถุกับพื้นหลัง ปิกาสโซ ได้นำมาพัฒนาต่อในภาพ เล เดอมัวแซล ดาวินยอง (Les Demoiselles d?Avignon) (ปี 1907) โดยเน้นที่ความแบนของพื้นที่ว่างและรูปทรง ปิกาสโซ สร้างรูปทรงที่ดูสับสนยุ่งเหยิง ทำให้เกิดความคลุมเครือในพื้นที่ว่าง เกิดทัศนียภาพแบบใหม่

รูปแบบและเนื้อหาของภาพนี้ ช็อคคนดูเป็นอย่างมาก เพราะเป็นภาพกลุ่มผู้หญิงเปลือยที่มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมเป็นมุมแบบเรขาคณิต ใบหน้าที่ดูน่ากลัวนั้น เกิดขึ้นจากการที่ ปิกาสโซ นำเอาหน้ากากอัฟริกันมาใส่ลงบนใบหน้าผู้หญิงเหล่านั้น (หนึ่งในนั้นเป็นโสเภณี)

ทั้งสองปฏิเสธวัตถุที่ชัดเจน บ่งบอกถึงการเดินทางของเวลา ไม่ใช่ภาพที่นิ่งแช่แข็ง ไม่มีมุมมองตายตัว เป็นดั่งตัวแทนโลกในความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและความสมัยใหม่ เช่น ภาพถ่ายเคลื่อนไหวและความรวดเร็วของรถยนต์มีผลต่อการรับรู้และการแสดงออกของศิลปินสมัยใหม่

งาน คิวบิสม์ เป็นสัญลักษณ์และบุคลิกของวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในโลกสมัยใหม่ ทุกอย่างสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวในพื้นที่แบนๆตื้นๆ แต่ก็มีความลึกและน้ำหนัก เป็นความลึกที่แตกต่างจากพื้นที่ว่างแบบ ศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance, เรอเนอซองส์)

คิวบิสม์ คือความพยายามจะเขียนภาพสะท้อนของทิวทัศน์ของเทคโนโลยี คือคำตอบของการสร้างภาพพลังความเคลื่อนไหวของยุคจักรกล โดยมิได้กลายเป็นภาพประกอบของเครื่องจักร และคือการสร้างภาพบันทึก “ขั้นตอน” และ “กระบวนการ” และ “ความเปลี่ยนแปลง”

ภาพของ คิวบิสม์ ค่อนข้างจะหลุดไปจากชีวิตประจำวันอย่างที่ อิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เคยทำมา คิวบิสม์ คือการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุจากความรู้ของคนเราว่า สร้างขึ้นจากมุมต่างๆมากมายทั้ง ด้านบน ด้านข้าง ด้านหน้าและด้านหลัง เป็นศิลปะที่มุ่งจะเสนอการรับรู้ของความมากหลากหลาย

ฮวน กรี (Juan Gris, 1887?1927) ชาวสเปน และศิลปินฝรั่งเศส เฟร์นอง เลเช (Fernand Leger, 1881?1955) ร่วมกันพัฒนา คิวบิสม์ หลังปี 1912 ทั้งสองใช้ คิวบิสม์ พัฒนาแนวทางส่วนตัว พัฒนาภาพลักษณ์สมัยใหม่ วัฒนธรรมร่วมสมัยแบบเมืองใหญ่ เขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ปลดปล่อยมนุษย์ให้อิสระจากการทำงานใช้แรงงาน

ในภาพเขียนหลายภาพของทั้งสองสนใจในเครื่องจักร ไม่ใช่ความไม่เป็นมนุษย์ แต่เขาสนใจความเป็นระบบของมัน ทั้งคนและเฟอร์นิเจอร์ถูกทำให้ง่ายและบอกความหมายว่า “สังคมที่เป็นดั่งเครื่องจักรกล” นำมาซึ่งความสมดุลกลมกลืน

ศิลปินฝรั่งเศสอีกคนคือ โครแบร์ เดอลาเนย์ (Robert Delaunay, 1885?1941) เขามองโลกในแง่ดี ใช้สีสดกว่า เลเช เขาใช้สีประกอบเข้ากับรูปทรงเรขาคณิตและพื้นที่ว่าง เขาและ เลเช คิดว่า โลกสมัยใหม่ทำให้เกิดความตื่นเต้นและโอกาส

เดอลาเนย์ นำเสนอบุคลิกของ แสง โครงสร้าง และพลังความเคลื่อนไหว สำหรับเขาแล้ว ภาพลักษณ์ที่เป็นแม่แบบหลักของวัฒนธรรมร่วมสมัยในขณะนั้นก็คือ หอไอเฟิล (Eiffel Tower) อย่างไรก็ตาม คิวบิสม์ มีอิทธิพลต่อศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มาก ทั้งในด้านแนวคิดและการจำกัดความหมายของศิลปะ

ศิลปิน: พาโบล ปิกาสโซ (Pablo Picasso, 1881-1973), จอร์จ บราค (Georges Braque, 1882-1963)

Conceptual Art
Dada