Body Art

Posted In: Artistic Movement

บอดี้อาร์ต
Body Art 

 body-art

ตกลางคริสต์ทศวรรษ 1960-ปลาย 1970

บอดี้ อาร์ต (Body Art) ที่เป็นชื่อเฉพาะนี้ใช้เรียกการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่นิยมกันในศิลปินกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ในยุคปลายคริสต์คริสต์ทศวรรษ 1960-1970 เป็นงานศิลปะที่ร่างกาย (โดยมากใช้ร่างกายของตัวศิลปินเอง) ได้กลายเป็นเครื่องมือหรือวัตถุดิบ แทนที่จะใช้ไม้ หินหรือระบายสีลงบนผ้าใบ

เมื่อตอนที่ บอดี้ อาร์ต ออกอาละวาดในวงการศิลปะ ขณะนั้น มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ศิลปะที่ลดและตัดทอนเรื่องราว ลวดลาย รูปทรงและสีต่างๆ จนเหลือน้อยและเรียบง่ายที่สุดกำลังเป็นที่นิยม การทำบอดี้ อาร์ต คือ ปฏิกริยาที่ต้องการปฎิเสธความเรียบเท่เก๋ไก๋แบบมินิมอลลิสม์ โดยแท้

เหล่าศิลปินที่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อนคือ มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) และผองเพื่อนกลุ่ม ดาด้า ที่เคยตัดผมบนหัวตัวเองให้เป็นรูปดาวตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 งานของพวก แอ็กชัน (Action) งานของ อีฟ แคลง (Yves Klein) และ ปีเอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960

ดังอาจจะเกิดความสงสัยว่า แฮ็พเพ็นนิง (Happening), แอ็คชัน (Action) และ ฟลัคซุส (Fluxus) แตกต่างกันอย่างไร คำตอบคงจะมีว่า พวกนี้มีความคล้ายกันในแง่ที่ต่างก็อยากจะท้าทายจารีตประเพณีการสร้างงานศิลปะที่วนเวียนอยู่กับการเขียนภาพปั้นรูป อยากจะทำงานศิลปะที่ศิลปินสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากแสดงออกออกไปโดยผ่านตัวกลาง (เช่นภาพวาดและศิลปวัตถุ) ให้น้อยที่สุด

และศิลปินเหล่านี้ต่างสนใจว่า ร่างกาย การเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นสื่อศิลปะได้เช่นเดียวกับสีจากหลอด ดินเหนียวสำหรับปั้น และหินสำหรับแกะสลัก

ในขณะที่ ฟลัคซุส มักจะเต็มไปด้วยการหยอกเย้าขี้เล่นมีอารมณ์ขัน แต่ บอดี้ อาร์ต จะจริงจังขึงขัง ถึงเลือดถึงเนื้อ มีความโน้มเอียงออกไปในทางการแสดงอารมณ์รุนแรงแบบมาโซคิส (masochist พวกที่ชอบทรมานตัวเองให้เจ็บปวด)

จีนา เพน (Gina Pane) ดาวเด่นของกลุ่ม บอดี้ อาร์ต ในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 โด่งดังมากจากการทำงานศิลปะแนวนี้โดยการใช้มีดโกนกรีดหน้าท้องตัวเอง หรือผลงานอีกชิ้นที่ เพน ทำการแต่งหน้าตัวเองหน้ากระจกเงา พร้อมๆกับใช้ใบมีดโกนกรีดใบหน้าและลำตัวของตัวเอง งานของศิลปินหญิงคนนี้สอดคล้องไปกับบรรดาศิลปินที่ทำงาน เฟมินิสต์ อาร์ต (Feminist Art) ที่พูดถึงการที่ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายรับและผู้ชายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง งานของเธอทรมานทั้งตัวเองและคนดูที่ต้องทนดูอย่างหวาดเสียว

คริส เบอร์เด็น (Chris Burden) เคยทำการแสดงแบบ บอดี้ อาร์ต โดยการทำให้ตัวเองถูกเตะตกบันไดที่งาน เดอะ บาเซิล อาร์ต แฟร์ อันโด่งดังในสวิตเซอร์แลนด์ ในผลงานชื่อว่า คุ้นส์ คิค (Kunst Kick ในภาษาเยอรมันแปลว่า “อาร์ต คิค?, art kick) นอกจากนี้ เบอร์เด็น ยังเคยจัดการให้ตัวเองถูกยิง ถูกไฟเผา ไฟฟ้าดูด ซึ่งไม่เพียงทดสอบความทนทานของมนุษย์ แต่ยังทดสอบระบบในสังคมที่ห้ามการสร้างประสบการณ์เจ็บปวดเหล่านี้

ผลงานหลายชิ้นของ เบอร์เด็น ต้องการเรียกร้องความอื้อฉาวทางศีลธรรม เขาหวังว่าเมื่อเขาทำในสิ่งที่สุดขั้วแบบนี้ เขาจะได้ก้าวข้ามข้อห้ามในสังคม และตั้งคำถามกับการตอบรับทางศิลปะ

ศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงอีกคน ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นศิลปินระดับตำนานในหมู่หัวก้าวหน้า วีโต แอคคอนซี (Vito Acconci) สร้างความอื้อฉาวในงานชื่อ ซี้ด เบด (Seedbed, 1972) งานแสดงในวงการทัศนศิลป์ที่ดังที่สุดในคริสต์ทศวรรษ 1970 แอคคอนซี จัดให้แกลเลอรีเป็นพื้นที่โล่ง มีการยกพื้นห้องให้สูงเป็นเนิน ตัวศิลปินไปซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ แล้วปล่อยเสียงตัวเองที่กำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองออกมาผ่านลำโพงที่วางอยู่มุมห้อง เป็นการทำให้คนดูรู้สึกแปลกแยกและงงงวยต่อเสียง ที่มาของเสียง และความอ้างว้างของพื้นที่

ในยามที่ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) กำลังเฟื่องฟู เมื่อผลงานที่เข้มข้นทางอารมณ์อย่าง ซี้ด เบด ถูกนำเสนอออกไป มันจึงกลายเป็นปฏิกริยาที่โต้ตอบกันอย่างรุนแรง เพราะ มินิมอลลิสม์ นั้นแสนจะเย็นชาและดูเป็นคณิตศาสตร์

แอคคอนซี พยายามหาวิธีการนำเอาศิลปะเข้าหาคนให้ได้กว้างขวางมากขึ้น เช่น เขาเคยนำเอาอวัยวะเพศชายขนาดยักษ์ที่ทำจากพลาสติกเป่าลมมาติดตั้งบนหลังคารถแล้วขับไปในเมือง แอคคอนซี มีความคิดว่า ศิลปะที่สามารถนำออกสู่สาธารณะได้โดยตรงและเป็นงานศิลปะแบบที่ไม่สามารถซื้อขายกันได้ จะทำให้ระบบแกลเลอรีพังทลายลง แต่ปรากฏว่างานแนว บอดี้ อาร์ต ของ แอคคอนซี ถูกการ “บูม? ของแกลเลอรีในคริสต์ทศวรรษถัดมาเบียดบังไปจนแทบหมดสิ้น

ศิลปินคู่ชาวอังกฤษชื่อดัง กิลเบิร์ต และ จอร์จ (Gilbert and George) เคยบุกเบิกงานในแนวความคิดแบบ บอดี้ อาร์ต ในปี 1969 ถึง 1972 พวกเขาทำให้ตัวของพวกเขากลายเป็น “ลีฟวิ่ง สคลัปเจอร” (ประติมากรรมมีชีวิต, living sculpture) โดยการไปยืนตั้งท่าแล้วทำตัวแข็งทื่ออยู่ตามที่สาธารณะและหอศิลป์ต่างๆ

ศิลปินอีกคู่ที่ทำงานแนวนี้คือ อูเรย์ และ อบราโมวิค (Ulay & Abramovic) คู่รักชาวยุโรปตะวันออก ทั้งสองเคยนำเอาหางมวยผมมาผูกติดกันเหมือนสายสะดือที่ผูกติดกันระหว่างชายหญิง ทั้งคู่นั่งนิ่งไม่ไหวติง เป็นการแสดงแบบไม่เคลื่อนไหว เป็นงานที่ต้องมีสมาธิสูง เป็นเรื่องราวระหว่างการติดยึดและการแยกจากกัน ศิลปินคู่รักคู่นี้ท้าทายสูตรสำเร็จของบทบาททางเพศที่ปรากฏในการทำศิลปะแสดงทั่วๆ ไป ที่มักจะพูดถึงการเป็นอิสระของปัจเจก

ในบางงานของ อูเรย์ และ อบราโมวิค ทั้งสองแสดงกันแบบท้าความตายอย่างหวาดเสียว เช่น ต่างคนต่างเหนี่ยวลูกศรจากคันธนู แล้วหยุดตรึงหัวลูกศรไว้ที่ตำแหน่งหัวใจของแต่ละคน อาศัยแรงโน้มรั้งซึ่งกันและกันไม่ให้ลูกศรพุ่งออกไป หรือในบางผลงานมีการแบ่งปันอ็อกซิเจนจากปากต่อปากของกันและกันในสถานการณ์ที่ความเป็นความตายเท่ากัน

ผลงานแนวที่เน้นการใช้ร่างกายแสดงแบบสดๆ ทั้ง บอดี้ อาร์ต และอื่นๆ ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ จะมีจุดเด่นที่ความสด ความตื่นเต้นและเนื้อหาสาระที่สื่อกันตรงๆ แต่หากเราพลาดไม่ได้ดูของจริงสดๆ ก็ไม่สามารถหาดูได้อีกแล้ว เว้นแต่บางงานที่มีการบันทึกเป็นภาพถ่ายหรือวิดีโอเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตามงานแบบนี้ถ้าจะให้ดีที่สุด ต้องดูของจริงสดๆ

ศิลปิน: อูเรย์ และ มารินา อบราโมวิค (Ulay and Marina Abramovic), วีโต แอคคอนซี (Vito Acconci), จานีน อันโตนี (Janine Antoni), สจ๊วต บริสลีย์ (Stuart Brisley), คริส เบอร์เด็น (Chris Burden), บ๊อบ ฟลานาแกน (Bob Flanagan), เชอร์รี โรส (Sheree Rose), เทอร์รี ฟ็อกซ์ (Terry Fox), กิลเบิร์ต และ จอร์จ (Gilbert and George), รีเบคกา ฮอร์น (Rebecca Horn), แบร์รี เลอ วา (Berry Le Va), ทอม มาริโอนี (Tom Marioni), อานา เมนเดียตา (Ana Mendieta), ลินดา มอนตาโน (Linda Montano), บรูซ นาว์แมน (Bruce Nauman), เดนนิส โอพเพ็นไฮม์ (Dennis Oppenheim), จีนา เพน (Gina Pane), ไมค์ พารร์ (Mike Parr), คลอส รินเก (Klaus Rinke), จิล สก็อต (Jill Scott), คาโรลี ชนีมานน์ (Carolee Schneemann), สเตอแลค (Sterlarc)

Arte Povera
Color-Field Painting