Video Art

Posted In: Artistic Movement

วีดีโอ อาร์ต
Video Art

video-art

 

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960-

เมื่อพูดถึง วีดีโอ อาร์ต (Video Art) ต้องอย่านำไปสับสนกับภาพยนตร์ที่อยู่ในรูปของวิดีโอหรือละครโทรทัศน์ วีดีโอ อาร์ต คือวีดีโอที่ทำขึ้นโดยศิลปินสายทัศนศิลป์ วีดีโอ อาร์ต เป็นเครื่องมือไม่ใช่รูปแบบ ศิลปินใช้วีดีโอในหลายแนวทาง แม้ว่างานวิดีโอโดยมากจะต้องอาศัยโทรทัศน์เป็นเครื่องฉายภาพ แต่ในวงการก็จะเรียกศิลปะแบบนี้ว่า วิดีโอ อาร์ต มากกว่าจะไปเรียกว่า “เทเลวิชัน อาร์ต” หรือ “โทรทัศน์ศิลป์”

ศิลปินคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มทำศิลปะด้วยวิดีโอคือคนเกาหลีนามว่า นัม จุง ไพค์ (Nam June Paik) เขาเป็นสมาชิกสำคัญในกลุ่ม ฟลัคซุส (Fluxus) เหล่าศิลปินวิญญาณขบถที่ชอบทำกิจกรรมท้าทายจารีตของศิลปะ จุดกำเนิดของ วิดีโอ อาร์ต คือ ในปี 1965 นัม จุง ไพค์ สร้างงานโดยการบันทึกเทปวีดีโอด้วยกล้องโซนี่แบบหิ้วพกพาได้ ไพค์ ซื้ออุปกรณ์ทันสมัยเหล่านั้นทันทีที่มันวางตลาด เขาจัดทำวิดีโอในวันนั้น แล้วหอบหิ้วไปฉายโชว์ 2-3 ชั่วโมง ในค่ำวันนั้นที่คลับของศิลปิน คาเฟ่ อะโกโก้ (Caf?-a-Go-Go) ในกรีนวิช วิลเลจ (Greenwich Village) ย่านศิลปะศิลปินแห่งนครนิวยอร์ค

นัม จุง ไพค์ เคยกล่าวถ้อยแถลงอันมีชื่อเสียงว่า “ทีวีได้จู่โจมพวกเรากันไปทั้งหมด ตอนนี้ล่ะ เรากำลังอัดมันกลับบ้าง”

วิดีโอ อาร์ต มักจะต้องเกี่ยวข้องกับการแสดงอยู่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะการแสดงแบบ ศิลปะแสดงสด หรือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ มีทั้งการแสดงสดๆ ตอบโต้ไปกับการฉายวิดีโอ เช่น ผลงานชื่อดัง ทีวี บรา ฟอร์ ลีฟวิ่ง สคลัปเจอร์ (TV Bra for Living Sculpture) ที่ ไพค์ ทำร่วมกับ ชาร์ล็อตต์ มัวร์แมน (Charlotte Moorman) ในผลงานชิ้นนี้ มัวร์แมน เปลือยกายสีเชลโล มีเพียงแค่โทรทัศน์เล็กๆ สองเครื่องปิดหน้าอกข้างละเครื่องเท่านั้น

ในอีกแบบเป็นการถ่ายวิดีโอการแสดง แล้วนำไปฉายในจอโทรทัศน์ (หรือมอร์นิเตอร์) หรือฉายด้วยเครื่องฉายแบบวิดีโอโปรเจคเตอร์ ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ที่จัดแสดงงานบ้างก็ทำวิดีโอกันอย่างจริงจัง แล้วนำไปแพร่ภาพทั้งทางอากาศและเคเบิลทางทีวี ซึ่งมักจะเป็นแบบคุณภาพมาตรฐานดีๆ มีค่าใช้จ่ายสูงจึงต้องทำร่วมกับพวกเครือข่ายโทรทัศน์หรือสถานีโทรทัศน์อิสระ กลุ่มศิลปินที่ชอบทำในแนวนี้คือ สคิป สวีนีย์ (Skip Sweeney) โจแอน เคลลี (Joanne Kelly) อีดิน เวเลซ (Edin Velez) และ เดอะ โยเนะโมโตะส์ (The Yonemotos)

หรือในผลงานของศิลปินบางคนจะใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแบบที่ใช้รักษาความปลอดภัย นำมาตัดต่อแล้วสร้างผลงานของตัวเองขึ้น หรือในผลงาน Nantes Triptych ในปี 1992 ของ บิลล์ วิโอลา (Bill Viola) ศิลปินวิดีโอชื่อดังคนหนึ่งของโลก เขาจัดฉายวิดีโอบนจอยักษ์ 3 จอในห้องมืด จอแรกทางซ้ายฉายภาพผู้หญิงกำลังคลอดลูก จอทางขวาเป็นภาพผู้หญิงชรากำลังจะสิ้นลม จอกลางเป็นภาพคนจมนิ่งอยู่ใต้น้ำ ดูเคว้งคว้างไร้ทิศทางแต่บางทีก็ดิ้นทุรนทุรายแล้วก็นิ่งไปอีก ภาพกำเนิดทารกกับคนใกล้ตายเป็นภาพจากเหตุการณ์จริง และด้วยการจัดฉายจากอุปกรณ์ชั้นยอด ติดตั้งในบรรยากาศที่ขึงขัง ทำให้ผลงานชิ้นนี้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม วิดีโอ อาร์ต ไม่มีขีดจำกัดว่าจะต้องมีการแสดงหรือภาพจากเหตุการณ์จริงเท่านั้น ในหลายๆ งาน อาจจะเป็นการฉายภาพกราฟฟิคที่เป็นนามธรรมมากๆ บ้างก็เป็นภาพหุ่นนิ่ง วัตถุสิ่งของต่างๆ สุดแล้วแต่ศิลปินจะเกิดความคิดอะไร ตัวอย่างเช่น แฟรงค์ จิลเล็ท (Frank Gillette) ในงานชื่อ อแรนซัส (Aransas) เมื่อปี 1978 เขาใช้เครื่องฉายวีดีโอ 6 ตัวในจัดฉายภาพทิวทัศน์ที่เป็นหนองน้ำของชนบทที่ชื่อ อแรนซัส รอบตัวคนดู

ในหลายๆกรณีก็มีการใช้เทคโนโลยีล่าสุดทางคอมพิวเตอร์มาทำงานที่ได้ผลทางเทคนิคพิเศษที่น่าตื่นตาตื่นใจราวกับภาพยนตร์แฟนตาซี บ้างก็สามารถมีปฏิกริยาโต้ตอบกับคนดูได้

การทำ วิดีโอ อาร์ต ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือ การผสมวิดีโอเข้ากับ ศิลปะจัดวางหรือ อินสตอลเลชัน อาร์ต นอกจากวิดีโอจะมีคุณสมบัติเป็น 3 มิติ แบบประติมากรรมแล้ว มันยังขยายขอบเขตตัวเองไปสู่ผลงานที่กินเนื้อที่และสภาพแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ

ตัวอย่างผลงานชิ้นเยี่ยมในแนวนี้คือ ผลงานของ แกรี่ ฮิลล์ (Gary Hill) ดาวเด่นของ วิดีโอ อาร์ต ร่วมสมัย Inasmuch as it is Always Already Taking Place ในปี 1990 ฮิลล์ ติดตั้งจอโทรทัศน์ (จอแก้ว) แบบเปลือยๆ (ไม่มีกล่องโทรทัศน์หุ้ม) มีทั้งเล็กใหญ่สารพัดขนาดทั้งหมด 16 จอ แต่ละจอฉายภาพส่วนต่างๆ ของร่างกายตัวศิลปินเอง ทั้งหมดนี้จัดวางคล้ายกับภาพจิตรกรรมหุ่นนิ่ง นอกจากภาพที่เป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายดูไม่จะแจ้งว่าเป็นส่วนไหนไปต่อกับส่วนไหนแน่ๆ แล้ว ยังมีเสียงฮัมงึมงำที่คลุมเครือชวนให้ค้นหาอีกด้วย

ในผลงาน วิวเวอร์ (Viewer) ในปี 1996 ฮิลล์ จัดห้องมืดแล้วฉายภาพผู้ชายต่างเผ่าพันธุ์ 17 คน ยืนอยู่ในพื้นที่ว่างที่มืดดำ พวกเขายืนนิ่งๆ เงียบๆ มีการขยับเคลื่อนตัวเล็กน้อย ภาพที่เห็นจะเหมือนจริงมากราวกับว่าพวกเขามาอยู่ร่วมห้องกับคนดูและพร้อมที่จะเดินเข้ามาหาคนดูเมื่อไรก็ได้

คนดังอีกคนในสายงานนี้คือ โทนี อาวส์เลอร์ (Tony Oursler) ลักษณะงานที่โดดเด่นเฉพาะตัวของเขาคือ เทคนิคการจัดฉายภาพวิดีโอลงบนวัตถุ 3 มิติ เช่น ลูกกลมๆ บ้างก็เป็นชิ้นเดี่ยวๆ บ้างก็เป็นกลุ่มจัดวางอยู่ในห้องที่ตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ ภาพที่ฉายลงบนวัตถุเหล่านั้นมีทั้งใบหน้าคนที่กำลังแสดงความรู้สึกหรือเฉพาะภาพดวงตาคนที่กำลังกรอกกลิ้งหรือร้องไห้ ประกอบกับเสียงที่คล้ายคนกำลังบ่น บ้างก็เป็นเสียงขอความช่วยเหลือ วัตถุ 3 มิติเหล่านั้นดูราวกับว่ามีชีวิตจริง ให้ความรู้สึกที่หลอนและน่าหวาดหวั่น

ผลงานที่ผสมวิดีโอกับ ศิลปะจัดวาง ที่น่าสนใจอีกชิ้นคือ เฟิร์สท แอนด์ เธิร์ด (First and Third) ในปี 1987 ศิลปิน จูดิธ แบร์รี ได้รับเชิญไปแสดงงานที่ เดอะ วิทนีย์ มิวเซียม ออฟ อเมริกัน อาร์ต ในนิวยอร์ค แบร์รี วิพากษ์พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นว่าเป็นสถาบันที่ปิดกั้นสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม แบร์รี ฉายภาพคนที่ไม่ถูกรวมอยู่ในประวัติศาสตร์อเมริกันฉบับทางการ โดยติดตั้งเครื่องเล่นวิดีโอในบริเวณโถงบันไดในพิพิธภัณฑ์ ฉายภาพขึ้นบนผนังให้คนที่เดินผ่านไปมาได้หยุดดูและฟัง

ศิลปิน: วีโต แอคคอนซี (Vito Acconci, 1940-), แม็กซ์ อัลมี (Max Almy), แอ็นท์ ฟาร์ม (Ant Farm), โรเบิร์ต แอชลีย์ (Robert Ashley), แมทธิว บาร์นีย์ (Mathew Barney, 1967-), สตีเฟน เบ็ค (Stephen Beck), แกร์รี ฮิลล์ (Gary Hill), ดารา เบิร์นบวม (Dara Birnbaum, 1946-), โคลิน แคมพ์เบลล์ (Colin Campbell),ปีเตอร์ ดิ อากอสติโน (Peter D?Agostino), เจมี ดาวิโดวิช (Jaime Davidovich), ดักลาส เดวิส (Douglas Davis), เอ็ด เอ็มช์วิลเลอร์ (Ed Emshwiller), เทอร์รี่ ฟ็อกซ์ (Terry Fox), กิลเบิร์ตและจอร์จ (Gilbert and George), แฟรงค์ จิลเล็ท (Frank Gillette), แดน เกรแฮม (Dan Graham), รีเบคก้า ฮอร์น (Rebecca Horn), โจน โจนาส (Joan Jonas), ไมเคิล ไคลเออร์ (Michael Klier), พอล คอส (Paul Kos), ชิเกโกะ คุโบตะ (Shigeko Kubota), มารี โจ ลาโฟนเทน (Marie Jo Lafontaine), เลส เลอวีน (Les Levine), โจน ล็อก (Joan Logue), ชิพ ลอร์ด (Chip Lord), แมรี ลูเซีย (Mary Lucier), สจ๊วต มาแชลล์ (Stuart Marshall), โรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris), อันโตนิโอ มุนตาเดส (Antonio Muntadas), บรูซ นาว์แมน (Bruce Nauman), นัม จุง ไพค์ (Num June Paik), โฮวาร์ดีนา พินเดล (Howardena Pindell), เอเดรียน ไพเพอร์ (Adrian Piper), มาร์แธม รอสเลอร์ (Martham Rosler), จิล สก็อต (Jill Scott), ริชาร์ด เซอร์รา (Richard Serra), ไมเคิล สโนว์ (Michael Snow), คิธ ซอนเนียร์ (Kieth Sonnier), จอห์น สเตอร์เจียน (John Sturgeon), ไดอานา เธทเตอร์ (Diana Thater), ท็อป แวลู เทเลวิชัน (Top Value Television), ที.อาร์.อุทโค (T.R.Uthco), วูดดี้และสเตนา วาซูลก้า (Woody and Steina Vasulka), เอดิน เวเลซ (Edin Velez), บิล วีโอลา (Bill Viola), บรูซและนอร์แมน โยเนะโมโตะ (Bruce and Norman Yonomoto)

Transavantgarde
ประวัติศาสตร์ศิลปะ