แฟชั่น เสื้อผ้า การแต่งกายยุครัตนโกสินทร์
การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ระยะเริ่มแรกยังคงรับช่วงต่อจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่สมัยต้นรัตนโกสินทร์มาจากกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น ความรู้ ความคิด ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จึงไม่ผิดแผกแตกต่างจากสมัยอยุธยามากนัก ต่อมาได้วิวัฒนาการไปตามสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การติดต่อกับนานาประเทศ ฯลฯ ซึ่งจำแนกลักษณะเฉพาะของการแต่งกายในแต่ละยุคได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
รัชกาลที่ 1-3 (พ.ศ. 2325-2394)
การแต่งกายในสมัยนี้จึงยังคงยึดแบบอยุธยาตอนปลายเช่นกัน
สตรี
ในราชสำนัก สตรีนุ่งผ้ายกหรือผ้าลายทอง ห่มสไบเฉียงด้วยผ้าปักหรือผ้าแพรที่พับเหมือนอัดกลีบ ผมตัดไว้เชิงสั้น (เนื่องด้วยในสมัยอยุธยาตอนปลายเกิดสงคราม หญิงต้องตัดผมสั้นเพื่อปลอมตัวเป็นชาย
สะดวกในการหนีภัยจากพม่า)
ชาย
ชายนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีต่าง ๆ สวมเสื้อคอปิด ผ่าอกแขนยาว แต่โดยปกติไม่นิยมสวมเสื้อการแต่งกายของขุนนางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะสวมเสื้อเข้าเฝ้าในฤดูหนาวเท่านั้น
ราษฎร
ราษฎรทั่วไป สตรีนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อรัดรูป ผ่าอก แขนกระบอก ตามปกติเมื่ออยู่กับบ้านนิยมห่มผ้าแถบ ซึ่งมีวิธีห่ม 4 แบบคือ
1. ใช้คาดนมแล้วเหน็บริมผ้าข้างบนซุกลงไปให้ติดกับส่วนที่คาดนมปล่อยชายทิ้งลงไปข้างหน้าสตรีที่มีอายุนิยมห่มแบบนี้ ส่วนมากเป็นผ้าแถบธรรมดาไม่มีจีบ
2. ห่มคาดนม แล้วเอาชายข้างหนึ่งพาดบ่าทิ้งชายลงไปข้างหลังเรียกว่า ห่มสไบเฉียง (ไม่เรียกผ้าแถบเฉียง) ห่มแบบนี้ส่วนมากเป็นสไบจีบ หญิงสาวและหญิงกลางคนนิยมห่มแบบนี้ มักเป็นคนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะ
3. ห่มตะเบงมานหรือตะเบ็งมาน เอาผ้าคาดตัวแล้วเอาชายทั้งสองที่เท่ากันมาคาดนมไขว้ขึ้นไปผูกกันไว้ที่ต้นคอ การห่มแบบนี้ไม่นิยมกันจะห่มเมื่อทำงานหนังหรืองานที่ต้องยกแขนขึ้นลง เช่น ตำข้าว
4. คล้องคอ ให้ชายผ้าห้อยลงมาข้างหน้าเท่ากัน ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่ห่มสองไหล่ทิ้งชายไว้ข้างหลัง การห่มแบบนี้ต้องสวมเสื้อด้วย ห่มกัน ทั้งหญิงสาวและกลางคนขึ้นไปและมักเป็นชาวสวน การห่มชนิดนี้มักจะห่มไปเที่ยวหรือไปงานรื่นเริงต่าง ๆ
ทรงผม
สตรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไว้ผมปีก คือ ไว้ผมยาวเฉพาะบนกลางศีรษะควั่นผมรอบศีรษะเป็นรอยจนเห็นขอบชัดเจน (คล้ายผมทรงมหาดไทย ของผู้ชายต่างกันที่ผู้หญิงไม่โกนรอบกลางศีรษะอย่างผู้ชาย ) ปล่อยจอนที่ข้างหูยาวลงมา แล้วยกขึ้นทัดหู เรียกว่า “จอนหู” บางครั้งใช้จอนหูเกี่ยวดอกไม้ให้ห้อยอยู่ข้างหูเรียกว่า “ผมทัด” ก็มีที่เรียกว่า “ผมปีก” นั้น เพราะมองเห็นเชิงผมเป็นขอบอย่างถนัดชัดเจน
ชายเเต่งแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อไว้ผมทรง “มหาดไทย” ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “ทรงหลักแจว” คือ โกนผมรอบศีรษะไว้ผมเฉพาะกลางศีรษะยาวประมาณ 4 ซม. แล้วหวีแต่งเรือนผมตามแต่จะเห็นงาม
ผมมหาดไทยมี 2 อย่าง คือ มหาดไทยโกนและมหาดไทยตัด
มหาดไทยโกนนั้นใช้โกนผมข้าง ๆ ให้เกลี้ยงเหลือไว้แต่ตอนกลางเป็นรูปกลมแต่แบนดังแปรง
ส่วนมหาดไทยตัด คือ ตัดข้างให้เตียนแทนที่จะโกน และถอนผมที่อยู่รอบตอนบนออกให้เห็นเป็นรอย เรียกว่า ไรผม ถอนแล้วยังไม่เรียบร้อยดีก็ใช้มีโกนกันไรผมอีกที
เด็กชายและหญิง ไว้ผมจุกจนอายุ 11 หรือ 13 ปี จึงโกนจุก แล้วไว้ผมตามแบบของผู้ใหญ่ต่อมา
รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411)
การแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 4
ระยะนี้เป็นช่วงของการเปิดประเทศติดต่อกับชาวตะวันตก ซึ่งกำลังแสวงหาอาณานิคมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นแนวความคิดของชาวตะวันตกจึง ทรงดำเนินนโยบายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอด จนปรับปรุงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างให้สอดคล้องกับ แนวนโยบายของต่างประเทศซึ่งยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอ้างเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกด้วยทรงมีพระราชดำริว่า การไม่สวมเสื้อนั้นดูล้าสมัยและชาวต่างประเทศจะ มองคนไทยว่าเป็นพวกชาวป่า ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า
“ เวลาวันหนึ่ง ข้าราชการเข้าเฝ้าที่พลับพลาโรงแสงพร้อมกัน ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นเกลื้อนกลากก็ดี หรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศใหญ่เขาก็สวมเสื้อหมดทุกภาษา… ประเทศสยามนี้ก็เป็นประเทศใหญ่รู้ขนบธรรมเนียมมากอยู่แล้ว ไม่ควรจะถือเอาอย่างโบราณที่เป็นชาวป่ามาแต่ก่อน ขอท่าน ทั้งหลายจงสวมเสื้อเข้ามาในที่เฝ้าจงทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเข้าและขุนนางก็สวมเสื้ออย่างน้อยเข้าเฝ้าทุกคน ครั้นนานมาเห็นว่า เสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบ๋า (เสื้อผ่าอก คอแหลมตื้น ไม่มีปกแขนยาว ตรง) ก็เป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้…”
ทรงผม
การไว้ผมของชายในสมัยนั้น ยังคงไว้ทรงมหาดไทยอยู่
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ส่งฑูตไปยุโรปให้คณะทูตเลิกไว้ผมมหาดไทยเปลี่ยนเป็นไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อคณะทูตกลับมาถึงกรุงเทพฯก็ตัดผมมหาดไทยตามเดิม
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่ารัชกาลที่ 4 ริเริ่มการไว้ผมสมัยใหม่แบบฝรั่ง ดังปรากฏหลักฐานจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์และพระราชโอรส ซึ่งเริ่มมีผู้ปฏิบัติตามกันต่อมา
สตรีในราชสำนัก นุ่มผ้าจีบลายทอง ห่มสไบปัก ใช้เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น ทับทรวง (เครื่องประดับอก) พาหุรัด (เครื่อประดับแขนหรือทองต้นแขน) สะอิ้ง (สายรัดเอว) สร้อยสังวาล (สร้อยยาวใช้คล้องสะพายแล่งที่เรียกว่าสร้อยตัว) ตุ้มหูเพชร แหวนเพชร ฯลฯ และยังคงไว้ผมปีกเหมือนรัชกาลต้น ๆ
ราษฏรทั่วไป สตรีนิยมสวมเสื้อคอกลม ปิดคอ แขนยาวทรงกระบอก รัดรูป นุ่งผ้าลายโจงกระเบนทับเสื้อคาดแพรหรือห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้ออีกทีหนึ่ง สวมกำไลที่ข้อเท้า ( การสวมกำไลข้อเท้านี้เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยว่า ผู้สวมกำไลข้อเท้าเป็นหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน) ไม่สวมรองเท้า บางพวกนิยมห่มสไปจีบ ส่วนผมยังคงไว้ปีกถอนไรผม ไว้เล็บ ผัดหน้า ตามปกติเมื่ออยู่กับบ้านก็ห่มผ้าแถบ ถ้าทำงานกลางแจ้งจึงจะสวมเสื้อแขนกระบอก แขนลีบยาวถึงข้อมือ ผ่าอกติดกระดุม บางทีเมื่อทำงานที่ต้องยกแขนขึ้น-ลง ก็ห่มตะแบงมานเช่นเดียวกับสมัยก่อน ส่วนการห่มผ้าแถบ(คาดอก) ยังคงมีเรื่อยมา จนกระทั่งคนรุ่นเก่าหมดไป และภายหลังเห็นว่าไม่สุภาพ การห่มผ้าแถบจึงหมดไปในที่สุด
เด็กยังนิยมไว้ผมจุก ถ้าเป็นเด็กหญิงใส่เสื้อคอกลมระบายลูกไม้ที่คอ แขน ฯลฯ หากเป็นผู้มีฐานะ บรรดาพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่มักมีเครื่องประดับทองเงินแต่งตัวให้เด็ก เป็นเหตุให้เด็กถูกฆ่าตายอยู่เนือง ๆ เพราะคนร้ายต้องการชิงเครื่องประดับ กรณีดังกล่าวนี้มีมาแต่สมัยรัชกาลก่อน ๆ แม้จะลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม คนร้ายก็ยังไม่เกรงพระราชอาญา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ออกหมายประกาศในปี พ.ศ. 2409 ห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็กที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย และประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องประดับและปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง หากเด็กได้รับอันตรายถึงตายด้วยเหตุนี้นอกจากคนร้ายจะได้รับโทษแล้ว ผู้นำเครื่องประดับมาแต่งให้ก็จะมีความผิดด้วย
ชาวบ้านที่มารอรับเสด็จ แฟชั่นในยุคนั้นจะสวมเสื้อแขนกระบอกที่ทำจากผ้าฝ้ายกระดุมทำจากเหรียญเงินผ้าสไบแพรจีน นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่คั่น
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา
ม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2422 ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนที่ 9 ของท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั้น บุตโรบล) กับนางดวงจันทร์ ได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ ๑๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่5 (พ.ศ. 2411-2453)
ในรัชกาลนี้ไทยได้มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ทรงโปรดให้มีการประกาศสวมเสื้อเข้าเฝ้า แต่ในเวลาปกติแล้ว บรรดาขุนนาง เจ้านาย และเสนาบดียังนุ่งผ้าผืนเดียว ไม่สวมเสื้อ เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษเล่าเรื่องที่เข้ามากรุงเทพฯ ภายหลังมาอีก 3 ปี ว่า เมื่อ ไปหาสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่ครั้งแรก จัดรับอย่างเต็มยศ เห็นสมเด็จพระยาองค์ใหญ่แต่งตัวนุ่งจีบ คาดเข็มขัดเพชรแต่ตัวเปล่าไม่สวมเสื้อ ขุนนางผู้น้อยซึ่งเป็นบริวารอยู่ในที่นั้นก็คงไม่สวมเสื้อเหมือนกันทั้งนั้น เพราะถือว่าต้องสวมเสื้อในเวลาเข้าเฝ้า เวลาอื่นยังมีเสรีภาพที่ จะรับแขกหรือไปไหนตัวเปล่าได้เหมือนอย่างเดิม”
การที่ไม่นิยมสวมเสื้อเพราะเสื้อผ้าหายากมีราคาแพงและทำความสะอาดลำบาก เนื่องจากไม่มีสบู่ใช้อย่างปัจจุบัน การทำความสะอาดต้องใช้ขี้เถ้ามาละลายน้ำซึ่งเรียกว่า ด่าง และใช้น้ำนี้มาซักผ้า น้ำด่างนี้ยังกดเสื้อผ้าให้เปื่อย ขาดง่าย ไม่ดีเหมือนใช้สบู่อย่างสมัยต่อมา ระหว่างสงครามโลกสบู่หายาก จึงได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ผงซักฟอกเข้ามาแทนที่และเป็นที่นิยมใช้กันเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า การแต่กายดังกล่าวย่อมเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นเวลาที่จะเสด็จประพาสต่างประเทศ (สิงคโปร์และชวา) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2413 จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายตามแบบฝรั่ง เพื่อแสดงความเป็นอารยประเทศ ทรงกำหนดเครื่องแบบทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีทั้งเครื่องแบบเต็มยศและเครื่องแบบปกติ ฝ่ายพลเรือนมีแต่เครื่องแบบเต็มยศเท่านั้น
เครื่องแบบของฝ่ายพลเรือนเป็นเสื้อแพรสีกรมท่า ปักทองที่คอและข้อมือ ในเวลาปกติใช้เสื้อคอเปิด ผูกผ้าผูกคออย่าฝรั่ง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนนุ่ง ผ้าม่วงสีกรม ท่าและกำหนดให้สวมถุงเท้า รองเท้าด้วย สำหรับผ้าม่วงสีกรมท่านั้นใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงานแต่ครั้งนั้น
เครื่องแต่งกายของชายไทยในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 นี้ได้ปรับปรุงตามแบบประเพณีนิยมสากล ของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก แต่หลังจากเสด็จประพาสอินเดีย-พม่า ในปี พ.ศ.2414 แล้ว ได้โปรดให้ดัดแปลง เป็นเสื้อนอกสีขาวคอปิดติดกระดุมตลอดอก 5 เม็ด เรียกว่า “เสื้อราชแปตแตนท์ (RajPattern) ซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น “เสื้อราชปะแตน” ซึ่งแปลว่า “แบบหลวง” แต่ยังคงนุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าเหมือนเดิม ในสมัยนี้ นิยมสวมหมวกแบบยุโรปหรือหมวกหางนกยูง ถือไม้เท้า ซึ่งมักจะใช้คล้องแขนจึงเรียกว่า “ไม้ถือ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทหารนุ่งกางเกงขายาว แทนผ้าม่วงโจงกระเบนสีกรมท่า เป็นผลให้ประชาชนเริ่มนิยมนุ่งกางเกงขายาว และสวมหมวกกะโล่กันขึ้นบ้าง ในตอนปลายรัชกาล การแต่งกายของชายทั่วไป ยังคงนิยมแต่งกายตามสบาย เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลก่อน ๆ คือ นุ่งผ้าลอยชาย มีผ้าขาวม้าหรือผ้าอะไรก็ได้แต่ะบ่าคลุมไหลหรือคาดพุง ซึ่งคงจะเป็นประเพณีการแต่งกายของคนไทยตามปกติมาแต่โบราณและคาดพุง ไม่นิยมใช้ผ้าแตะบ่า การนุ่งลอยชาย คือ การเอาผ้าทั้งผืนนั้นมาโอบหลังกะให้ชายผ้าข้างหน้าเท่ากัน แล้วขมวดชายพก ค่อนข้างใหญ่เหน็บแน่นติดตัว แล้วทิ้งชายห้อยลงไปข้างหน้า
การนุ่งผ้าลอยชายนี้ บางคนชอบนุ่งใต้สะดือ ชายพกที่ค่อนข้างใหญ่นี้เพื่อเก็บกล่องหรือหีบบุหรี่ที่ตนชอบ ส่วนผ้าคาดพุงไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าหรือผ้าส่านหรือผ้าอะไรผูกเป็นโบเงื่อนกระทก ไว้ข้างหน้า ทิ้งชายผ้าลงมาเล็กน้อย
ผู้ชายบางคนแต่งตัวแบบนักเลงโต กล่าวคือ นุ่งกางเกงชั้นใน คาดกระเป๋าคาด ที่เอวทับกางเกงใน นุ่งผ้าโสร่งทับนอก (โสร่งไหมตัวใหญ่ ๆ หรือผ้าตาโก้งหรือตาโถงที่พวกต้องซู่นำมาขายหน้าเทศกาลพระพุทธบาทสระบุรี) นุ่งเสร็จมักจะหยิบผ้านุ่งตรงสะโพกทั้งสองข้างยกขึ้นไปเล็กน้อยไปเหน็บไว้ที่เอว เรียกว่า “นุ่งหยักรั้ง” มีผ้าขาวม้าหรือผ้าอะไรพันคอ ชายหนึ่งอยู่ข้างหน้า ตวัดอีกชายหนึ่งไปข้างหลัง หากจะซื้อของก็เลิกผ้าโสร่งขึ้นหยิบเงินในกระเป๋าคาด ในสมัยนั้นถือเป็นของธรรมดา การนุ่งผ้าลอยชายนี้คงจะมีอยู่เพียงปลายรัชกาลที่ 5 และคงจะมีบ้างประปรายในรัชกาลที่ 6 แต่ก็ไม่ได้หมดไปทีเดียว ยังมีอยู่เรื่อยมา แม้กระทั่งปัจจุบันการไว้ผมของชายไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ผมยาวอย่างฝรั่ง มีทั้งหวีแสกและหวีเสย เลิกไว้ผมมหาดไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำการไว้ผมยาวทั้งศีรษะ ทั้งมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพารไว้ผมยาวได้ตามแบบฝรั่งตั้งแต่นั้นมา แม้จะโปรดให้เลิกไว้ผมมหาดไทยแล้ก็ตามยัง มีข้าราชการผู้ใหญ่บางท่านนิยมผมมหาดไทยอยู่ ดังเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ให้ช่างตัดผมสั้นรอบศีรษะ ไว้ข้างบนยาวคล้ายทรงผมมหาดไทย เรียกว่า “ผมรองทรง”
เครื่องแต่งกายของสตรีไทยในสมัยนี้ได้ดัดแปลงแก้ไขหลายครั้ง แต่เดิมในราชสำนักยังคงนุ่งผ้าจีบ ห่มสไบแพรเฉียงแนบกับตัวเปล่า
ต่อมาในปี พ.ศ.2416 โปรดให้เปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายใหม่ให้สตรีนุ่งผ้ายกจีบ ห่มตาด หรือห่มสไบปักเฉพาะเวลาเต็มยศใหญ่เท่านั้น ในโอกาสทั่วไป นุ่งผ้าโจงกระเบนสวมเสื้อพอดีตัว ผ่าอก คอกลมหรือคอตั้งเตี้ย ๆ ปลายแขนแคบยาวถึงข้อมือ ชายเสื้อยาวเพียงเอว เรียกว่า“เสื้อกระบอก” แล้วห่มแพรจีบตามขวางสไบเฉียงทับบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง แพรจีบที่ใช้ห่มสไบเฉียงทับเสื้อนี้ ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นแพรสะพาย
ซึ่งใช้แพรชนิด ที่จีบตามขวางเอวนั้นมาจีบตามยาวอีกครั้งหนึ่ง จนเหลือเป็นผืนแคบตรึงให้เหมาะ แล้วสะพายมาบนบ่าซ้าย รวบชายแพรทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกันทางด้านขวา ของเอวคล้าย ๆ สวมสายสะพาย และสวมรองเท้าบู๊ตโดยมีถุงเท้าหุ้มตลอดน่องด้วย
ในปี พ.ศ.2440 หลังจากเสด็จกลับจากยุโรปได้ทรงนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรป มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทย สตรีในครั้งนั้นจึงเริ่มใช้เสื้อตัดตามแบบยุโรป สวมถุงเท้า แต่ยังคงนุ่งโจงกระเบนและสะพายแพรอยู่ แบบเสื้อที่นิยมกันมากในสมัยนี้ก็คือ เสื้อแขนพองแบบฝรั่ง คอตั้ง แขนยาว ต้นแขนพองคล้ายขาหมูแฮม จึงเรียกว่า “เสื้อหมูแฮม” มีผ้าห่มหรือแพรสไปเฉียงแล้วแต่โอกาส ทับตัวเสื้ออีกทีหนึ่ง
ปลายรัชกาลที่ 5 สตรีนุ่งโจงกระเบนกันเกือบทั้งหมด แต่ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้าแพร ไหม ผ้าลูกไม้ ตัดแบบชาวตะวันตก คอตั้งสูง แขนยาว ฟูพองหรือระบายลูกไม้เป็นชั้น ๆ รอบแขนเสื้อ บางทีเอวเสื้อจีบเข้ารูป บางทีคาดเข็มขัด สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง หญิงชาวบ้านทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบนเป็นประจำและห่มผ้าแถบอยู่กับบ้านเช่นเคย ไม่นุ่งจีบ ยกเว้นคนชั้นสูงจะมีงานมงคลอะไรใหญ่เป็นพิเศษก็อาจแต่งบ้างบางราย (การนุ่งจีบมักจะนุ่งแต่คนชั้นสูงเท่านั้น)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลิกผมปีกไว้ผมยาวแทน โดยให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก เป็นผู้นำคนแรก ด้วยการไว้ผมยาวประบ่า ต่อมาพวกเจ้านายฝ่ายในและหม่อมห้ามได้ทำตาม แต่บางคนไว้ผมตัดทรงดอกกระทุ่ม จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชน ต่อมา ทำให้ไว้ผมยาวประบ่าบ้าง ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มบ้าง แต่ส่วนใหญ่นิยมผมทรงดอกกระทุ่ม สตรีสมัยนั้นเริ่มใช้เครื่องสำอางอย่างชาวตะวันตกบ้าง นิยมใช้เครื่องประดับสร้อยข้อมือ สร้อยคอ สร้อยตัว (สร้อยเฉลียงบ่า) แหวน กำไล ใส่ตุ้มหูบ้าง แต่มักไม่ค่อยใส่กัน
เข็มขัดทอง เงิน นาก ถ้าเป็นคนชั้นสูงที่นุ่งจีบจะต้อง ใช้เข็มขัดคาด ก็มักจะใช้เข็มขัดทองทำ หัวมีลวดลายงดงามลงยาประดับเพชรพลอย การใช้เครื่องประดับของสตรีนั้นแตกต่างกัน ถ้าเป็นภรรยา บุตรหลานข้าราชการขุนนาง เวลาอยู่กับบ้านมักไม่ค่อยแต่งเครื่องประดับ จะมีแต่งบ้างเป็นพวกสร้อยข้อมือเล็ก ๆ สร้อยคอสายเล็ก ๆ ใส่แหวนบ้าง ตุ้มหูไม่ค่อยใส่กัน
แต่ถ้าเป็นหญิงชาวสวน นิยมใส่สร้อยข้อมือ สร้อยคอเส้นโตๆ ใส่แหวนเป็นประจำ ตุ้มหูมีใส่บ้างแต่ไม่นิยมกัน ถ้าเปรียบกับสมัยปัจจุบันก็คล้าย ๆ กับตู้ทองเคลื่อนที่ และเป็นธรรมเนียมสืบทอดมาจนปัจจุบัน ที่ชาวชนบทบางคน หรือผู้ที่มีความคิดอยากจะแต่งเพื่อโอ้อวด หรือ แสดงถึงความเป็นผู้มีฐานะ ยังคงนิยมแต่งอยู่ก็มี แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2525) ทองมีราคแพงมาก ทำให้มีการวิ่งราวชิงทรัพย์กันอยู่บ่อย ๆ คนแต่งเครื่องประดับมีค่าจึงลดน้อยลง แต่ก็เกิดเครื่องประดับ วิทยาศาสตร์ใช้แทน ทำให้ “ไม่รวยก็สวยได้”
เด็กหญิงในสมัยนี้ นุ่งโจงกระเบนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่สวมเสื้อเวลาออกงาน จึงสวมเสื้อคอติดลูกไม้ที่เรียกว่า เสื้อคอกระเช้า เวลาแต่งตัวเต็มที่นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาวคอปิดแต่งด้วยผ้าลูกไม้งดงาม สวมถุงเท้า รองเท้า เจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ทรงฉลองพระองค์แขนยาว พองและทรงเครื่องประดับมาก ยังคงนิยมไว้ผมจุก เมื่อตัดจุกแล้วจึงเริ่มไว้ผมยาว
(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค) ผู้นำเรื่องการแต่งกาย สมัยรัชกาลที่ 5)
(สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5)
รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468)
ในสมัยนี้ การติดต่อกับประเทศตะวันตกได้ สืบเนื่องมากจากรัชกาลก่อน ๆความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ จึงค่อนข้างไปทางตะวันตกมากขึ้นขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้บรรยายถึงความเจริญในยุคนี้ ว่าความเจริญของบ้านเมืองทั่วไป เริ่มเป็นสมัยใหม่ขึ้นตั้งแต่เริ่มรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ถนนหนทางส่วนมากเรียบร้อยขึ้นและบางสายเริ่มลาดยางแอสแฟลต์ เรือนไทยที่เคยมีตามถนนทั่วๆ ไปกลายเป็นตึกแถว 2 ชั้น 3 ชั้น บ้านไทยกลายเป็นบ้านตึกทรวดทรงค่อนไปทางฝรั่ง ร้านค้ามีมาก รถยนต์มีมากขึ้น รถไอ รถราง รถม้า รถเจ๊กยังคงใชักันมาก ทั่วไป ผู้คนพลเมืองหนาตาขึ้น ถนนไม่โล่ง
การแต่งของหญิงในสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามอารยประเทศในด้านต่าง ๆ แล้วในด้านการแต่งกายก็ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
การแต่งกายของสตรีระยะแรก ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อยังนิยมใช้ลูกไม้ประดับอยู่ คอลึกกว่าเดิมแขนยาวเสมอข้อศอกแต่แขนเสื้อไม่พอง เหมือนแบบสมัยรัชกาลที่ 5มีผ้าคาดเอวสีดำ มีผ้าสไบพาดไหล่รวบตอนหัวไหล่ติดด้วยเข็มกลัดรูปดอกไม้
สาวผ้าสไบดังกล่าวรวบไว้ตรงข้างลำตัว สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง
ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ(ตามปกติผ้าซิ่นใช้กันทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งนุ่งกันเป็นประเพณี มักเป็นผ้าซิ่นด้าน แต่ในกรุงเทพฯ ไม่นิยมนุ่งกันเลย จะนุ่งกันแต่โจงกระเบน เมื่อเริ่มนุ่งผ้าซิ่นนั้น ผ้าซิ่นจะเป็นพวกซิ่นไหมและซิ่นเชิงทอด้วยเส้นเงิน เส้นทอง)
เกิดเสื้อแบบใหม่ ๆ สำหรับใส่เข้าชุดกับผ้าซิ่นขึ้น การสะพายแพรไม่เป็นที่นิยมกันต่อไป นอกจากสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์จะแต่งกายเต็มยศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยังคงใช้แพรปักตราจุลจอมเกล้าสะพายอยู่เหมือนเดิม (การสะพายแพรยกเลิกในรัชกาลที่ 7 )
ต่อมาในปี พ.ศ.2463 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอภิเษกสมรส ได้โปรดให้สตรีในราชสำนักไว้ผมยาวเกล้ามวยหรือไว้ผมบ๊อบ ตามแบบตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นใช้เครื่องประดับคาดรอบศีรษะด้วย การแต่งกายตามพระราชนิยมจึงได้แพร่หลายออกสู่ประชาชน สตรีไทยจึงนิยมไว้ผมยาวกันอย่างแพร่หลาย แต่บางคนก็นิยมตัดสั้นแบบที่เรียว่า ทรงซิงเกิ้ล ยกเว้นคนแก่ยังนิยมนุ่งโจงกระเบน และไว้ผมทรงดอกกระทุ่มและผมทัดต่อไปตามเดิม
ในระยะแรก การแต่งกายไม่นิยมใช้เครื่องประดับมากนัก ต่อมานิยมเครื่องประดับที่เลียนแบบตะวันตก เครื่องสำอางนิยมใช้ของตะวันตกกันมากขึ้น
ทางด้านการแต่งกายของชายนั้น ข้าราชการยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสวมเสื้อราชปะแตน ตัดผมแบบยุโรป สวมถุงเท้า รองเท้าเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 5 ในระยะต่อมาจึงนิยมกางเกงแพรสี
ขุนนางและภรรยาชาวไทย้อ
สตรีอีสานชั้นสูง สวมเสื้อทรงหมูแฮม ห่มสไบจีบ นุ่งซิ่นมัดหมี่ยาวกรอมเท้า
เป็นลักษณะการแต่งกายตามแบบประเพณีที่เป็นแบบฉบับของผู้ดีอีสาน แฟชั่นไหล่ตั้งมาแล้ว ด้านซ้ายมือ
รัชกาลที่ 7 – ปัจจุบัน (พ.ศ. 2468-ปัจจุบัน)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 การแต่งกายคล้ายชาวตะวันตกมากขึ้น ซิ่นที่นุ่งยาวเปลี่ยนเป็นผ้าถุงสำเร็จ
กล่าวคือ เย็บผ้าถุงให้พอดีกับเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด สวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาว แขนสั้นหรือไม่มีแขนตกแต่งด้วยโบและระบายเหมือนฝรั่ง เลิกสะพายแพรปัก ใส่สายสร้อยและตุ้มหูยาวแบบต่าง ๆ สวมกำไล ส่วนผมปล่อยยาวแต่ไม่ประบ่า และเริ่มนิยมดัดเป็นลอน ทั้งนี้เพราะคนไทยในช่วงนี้ได้มีโอกาสไปศึกษายังต่างประเทศมากขึ้น จึงนำเอาอารยธรรมการแต่งกายเข้ามาด้วย ประกอบกับภาพยนตร์ฝรั่ง โดยเฉพาะภาพยนตร์อเมริกันกำลังเฟื่องฟูมากในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 และได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถมีอิทธิพลในด้านนำแฟชั่นมาสู่ประชาชนคนไทย ด้วยการที่สตรีหันมานุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่นุ่งกันในเฉพาะบางพวกบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ในวงสังคมชั้นสูง พวกข้าราชการหรือผู้ที่ชอบแต่งตามแฟชั่น
ในราวปี พ.ศ. 2474 สตรีไทยปฏิวัติเครื่องแต่งกายให้ทัดเทียมกับชาวยุโรปอีก คือ จากถุงสำเร็จซึ่งปฏิวัติมาจากผ้าซิ่น ก็ได้เปลี่ยนเป็นกระโปรง 4 ตะเข็บ 6 ตะเข็บ มีผู้เล่ากันว่าข้าราชการหญิงในกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตัดใช้ก่อนคนอื่น ๆ แล้วหลังจากนั้นเครื่องแต่งกายของสตรีไทยก็ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ”
ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการ ตลอดจนคนในสังคมชั้นสูงโดยทั่วไป ยังนิยมนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้า รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีกหรือหมวกกะโล่ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายปกติ สำหรับไปในงานพิธีหรืองานราชการโดยทั่วไป เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ จึงจะใส่เสื้อคอแบะ ผู้เนกไท นุ่งกางเกงแบบชาว ตะวันตก
ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบนหรือสวมกางเกงแพร สวมเสื้อธรรมดา และไม่นิยมสวมรองเท้าอยู่ต่อไปตามเดิม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลเห็นว่าการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตนอันเป็น เครื่องแต่งกายตามปกติ หรือในงานพิธีของข้าราชการและสุภาพบุรุษโดยทั่วไปไปนั้นล้าสมัย จึงประกาศให้นุ่งกางเกงขายาวแทน แต่ยังไม่เป็นบังคับทีเดียว ยังผ่อนผันให้นุ่งฟ้าม่วงได้บ้าง
จนปี พ.ศ. 2487 ได้ตราพระราช บัญญัติการ แต่งกายข้าราชการพลเรือน โดยให้เลิกนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนโดยเด็ดขาด กำหนดเครื่องแบบการแต่งกาย ข้าราชการ ให้เป็นไปตามแบบสากล
ราษฎรทั่วไปเมื่อเห็นข้าราชการนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงก็ทำตามอย่างกัน ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งนิยมแต่งแบบสากลกันมาจนปัจจุบัน ในระยะนี้ไม่นิยมสวมหมวก จนกระทั่งถูกบังคับให้สวมใน สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดอำนาจ การบังคับให้สวมหมวกก็ล้มเลิกไปโดยปริยาย การแต่งกายได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487) ได้ม่งส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ เป็นจุดของการสร้างชาติในด้านต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมากมายหลายอย่าง
โดยพยายามให้วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ มีการออกพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาและประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายของชาวไทยหลายฉบับ ตลอดจนคำแนะนำในด้านการแต่งกายรวมทั้งการประกาศห้ามผู้แต่งกายไม่สมควรปรากฏตัวในที่สาธารณะ ดังเช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกาย ของประชาชนชาวไทย
แม้ว่าจะมีการนุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่ส่วนมากก็ยังนิยมนุ่งโจงกระเบนกันอยู่ รัฐบาลจึงได้วิงวอนให้สตรีไทยเปลี่ยนแปลงการแต่งกายให้สมกับเป็นอารยประเทศโดย ให้สตรีไทยทุกคนไว้ผมยาวตามประเพณีนิยมสมัยโบราณหรือตามสมัยนิยมในขณะนั้น เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน และเลิกใช้ผ้าคาดอก หรือเปลือยกายท่อนบน ให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าถุงอย่างสมัยโบราณหรือสมัยนิยมขณะนั้นและใส่เสื้อแทน ต่อมาได้ขอร้องให้สตรีไทยสวมหมวก นุ่งกระโปรงและสวมรองเท้า
การแต่งกายแบบสากลเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการอยู่แล้ว การนุ่งผ้าม่วงกำลังเสื่อมความนิยม เพราะยุ่งยากสิ้นเปลืองและไม่สะดวก แต่ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไปยังคงนิยมนุ่งกางเกงแพรดอกสีต่าง ๆ ออกนอกบ้านอยู่
จึงได้ประกาศชี้แจงให้คำนึงถึงเกียรติของชาติ ไม่แต่งกายตามสบาย และชักชวนให้เลิกนุ่งกางเกงแพร โดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมของจีนอีกด้วย รัฐบาลได้พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่าการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย จะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการส่งสริม วัฒนธรรมและสร้างชาติ
สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับยุคฟื้นฟู “ชุดไทยพระราชนิยม”
โดยทั่วไปนิยมแต่งกายแบบสากลกันแทบทั้งสิ้น การแต่งกายแบบไทยของสตรี ได้วิวัฒนาการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และได้ชื่อว่าเป็นแบบฉบับของเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่รู้จักกันทั่วโลก ในนาม ชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งมีแบบต่าง ๆ ดังนี้
1. ไทยเรือนต้น ใช้ผ้าฝ้ายหรือฝ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่นยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับซิ่น หรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอกกระดุม 5 เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ เครื่องประดับตาม สมควร ใช้ในโอกาสปกติ (เป็นชุดไทยแบบลำลอง) และต้องการความสบาย เช่น งานกฐินเที่ยวเรือ งานทำบุญวันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะกับเวลาและสถานที่
2. ไทยจิตรลดา ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิง หรือผ้าทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ ตัดเป็นซิ่นยาว ป้ายหน้าเสื้อคนละท่อนกับซิ่น คอกลมมีคอตั้งน้อย ๆ ผ่าอก แขนยาว ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่าง ๆ หรืองานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทศที่มาเยือนเป็นทางการที่สนามบินดอนเมือง ไม่ต้องประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามให้มากน้อยเหมาะสมกับโอกาสที่แต่ง
3. ไทยอมรินทร์ แบบเหมือนไทยจิตรลดาต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับ หรูหรากว่าไทยจิตรลดาเพราะเป็นชุดพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็มขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกลมกว้าง ๆ ไม่มีขอบตั้งแขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าและเครื่องประดับ ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง รับเสด็จ ไปดูละครตอนค่ำ และเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนาม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาต
4. ไทยบรมพิมาน คือชุดไทยพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ตัดติดกันกับเสื้อ ซิ่นจีบหน้ามีชายพก ยาวจรดข้อเท้า ใช้เข็มขัดไทยคาด เสื้อคอกลม ปกตั้ง ผ่าด้านหลังหรือด้านหน้าก็ได้ แขนยาว ใช้เครื่องประดับงดงามพอสมควร เหมาะสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ หรือเป็นชุดเจ้าสาว
5. ไทยจักรี หรือชุดไทยสไบ นุ่งผ้ามีเชิงหรือยกทั้งตัว ยกจีบข้างหน้า มีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ท่อนบนเป็นสไบจะเย็บติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกัน หรือจะมีสไบห่ม ต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลัง ยาวตามที่เห็นสมควร (ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า การเย็บและรูปทรงของผู้สวม) ใช้เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาสในเวลากลางคืน ชุดนี้ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสำหรับอากาศที่ไม่เย็น
6. ไทยจักรพรรดิ ใช้ซิ่นไหมหรือยกทองจีบหน้ามีชายพก เอวจีบ ใช้เข็มขัดไทยคาด ห่มแพรจีบแบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชั้นที่หนึ่งก่อน แล้วจึงใช้สไบปักอีกชั้นหนึ่ง (มีสร้อยตัวด้วย) ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายแบบเต็มยศ เช่นเดียวกับชุดไทยจักรี
7. ไทยดุสิต ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้ามีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัดไทยคาด เช่นเดียวกับไทยจักรพรรดิ ต่างกันที่ตัวเสื้อคือใช้เสื้อคอกว้าง (คอด้านหน้าและหลัง คว้านต่ำเล็กน้อย ไม่มีแขน เป็นเสื้อผ่าหลัง และปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อมใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ บางท่านเรียกการแต่งกายชุดนี้ว่าชุดไทยสุโขทัย
8. ไทยศิวาลัย ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง มีชายพก ตัวเสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ แขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่นคล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้า ปักลายไทยแบบไทยจักรพรรดิ โดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษ ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
9. ไทยประยุกต์ เป็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใส่กันมาก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นเสื้อคอกลม คอกว้าง หรือคอแหลม ไม่มีแขนเหมือนกับเสื้อราตรีปกติ ตัวเสื้อนิยมปักเลื่อม ลูกปัด ตกแต่งให้สวยงามตามใจชอบ ใช้ในงานตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาวสวมตอนเลี้ยงกลางคืนก็ได้ และได้มีการคิดค้นแบบเสื้อเสื้อของชายไทยขึ้นเรียกว่า ชุดพระราชทาน ผู้ที่แต่งเป็นคนแรก คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)
ลักษณะเป็นเสื้อคอตั้งเหมือนเสื้อราชปะแตน ไม่มีปก ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าอกตลอด มีสาบกว้างพอประมาณ 3.5 ซม. ติดกระดุม 5 เม็ด ขลิบรอบคอ สาบอก ขอบแขน และปากกระเป๋า มีกระเป๋าอยู่ด้านใน 2 ใบ (ด้านล่าง)
กระเป๋าบนจะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีให้เป็นกระเป๋าเจาะข้างซ้าย 1 กระเป๋า ชายเสื้ออาจผ่ากันตึงเส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เดินจักรทับตะเข็บ แบบเสื้อจะเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ แต่ใช้ในโอกาสต่างกัน กล่าวคือ พระราชทานแขนสั้นเสื้อใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ใช้ในโอกาสธรรมดาทั่วไป ปฏิบัติงาน หรือในพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในงานพิธีการเวลากลางคืน
ส่วนชุดแขนยาว เสื้อใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ใช้ในพิธีเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในพิธีการเวลากลางคืน ถ้ามีผ้าคาดเอวด้วย ควรผูกเงื่อนแน่นทางซ้ายมือของผู้สวม ใส่และใช้ในพิธีที่สำคัญมาก ๆ ถ้าไปในงานศพจะใช้เสื้อสีขาวแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ กางเกงสีดำ หรือจะเป็นสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุดก็ได้
เสื้อชุดพระราชทานนี้ใช้ควบคู่กับกางเกงแบบสากลนิยม สีสุภาพหรือสีเดียวกันกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากลนิยม หรือเสริมเพิ่มเติมจากชุดสากล นิยมได้ทุกโอกาส แต่มิใช่เป็นการทดแทนชุดสากลนิยมโดยสิ้นเชิง เสื้อชุดไทยพระราชทานนิยมนี้ในวงการแฟชั่นชาย ยุคสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์อย่างมาก จากนั้นก็คลี่คลาย มาแต่งสากลนิยมแบบฝรั่งทั้งในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักธุรกิจ ตามที่พบเห็นทั่วไปทุกวันนี้
ขณะที่ชุดไทยพระราชนิยมนั้นยังเป็นชุดประจำชาติที่สตรีทั่วไปนิยมสวม ในงานรัฐพิธีและโอกาสสำคัญต่าง ๆ อยู่ การแต่งกายตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่ามีมาตรฐานอย่างใดเพราะได้มีวิวัฒนาการผสมผสาน ระหว่างของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกันมาโดยตลอด
cul.hcu.ac.th/wear.html
arunsawat.com/board/index.php?topic=521.0
ข้อมูลมาจาก จากหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2540